ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวี

ตุลาคม 30, 2022
Written By HIV Team

ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวี

เอชไอวี (HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเอดส์ (AIDS) คือระยะท้ายของการติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคแทรกซ้อนได้ เชื้อ HIV จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CD4 (ซีดีโฟร์) ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อของโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น  รวมถึงมะเร็งบางชนิด ซึ่งมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนปกติ และบางครั้งอาการอาจจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป จนเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตได้

ใครที่ควรไปตรวจเลือด

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มีความเสี่ยงโดยไม่ได้สวมถุงยาง
  • ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทางทวารหนักโดยไม่ได้สวมถุงยาง
  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
  • ผู้ติดสารเสพติดที่ใช้เข็มร่วมกัน
  • หญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ที่สถานพยาบาล
  • ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ป่วยวัณโรค
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชวี มี 4 แบบหลักๆ คือ

1. การตรวจหาแอนติเจนของเชื้อเอชไอวี จะทำการตรวจโปรตีนของเชื้อที่ชื่อว่า p24 (HIV p24 antigen testing) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ตรวจการติดเชื้อในระยะแรกที่ผู้ได้รับเชื้อยังไม่สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV) หรือมีระดับแอนติบอดีที่ต่ำจนไม่สามารถตรวจวัดได้ โดยสามารถตรวจได้ภายหลังการติดเชื้อประมาณ 14-15 วัน

2. การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV testing) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในปัจจุบัน โดยสามารถตรวจพบได้หลังการติดเชื้อประมาณ 3-4 สัปดาห์

3. การตรวจโดยใช้ชุดตรวจแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อเอชไอวีและแอนติเจนของเชื้อพร้อมกันในน้ำยาเดียวกัน (HIV Ag/Ab combination assay) หรือเรียกอีกอย่างว่าน้ำยาตรวจแบบ Fourth generation เป็นการตรวจ Anti-HIV และ/หรือ HIV p24 antigen ในคราวเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันน้ำยาประเภทนี้มีการใช้อย่างแพร่หลายเพื่อตรวจคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยสามารถตรวจพบการติดเชื้อได้เร็วที่สุด 14-15 วัน หรือ 2 สัปดาห์หลังติดเชื้อ

4. การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีหรือ nucleic acid test (NAT) เป็นวิธีที่มีความไวมากที่สุด โดยสามารถตรวจการติดเชื้อได้ตั้งแต่ 3-7 วันหลังการติดเชื้อ ปัจจุบันวิธีนี้ใช้ในการตรวจคัดกรองเลือดผู้บริจาคโลหิตแต่ยังไม่นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสถานพยาบาล

Love2test
ความหมายของผลตรวจเลือดเอชไอวี

ความหมายของผลตรวจเลือดเอชไอวี 

  • Non-reactive หรือ Negative คือ ผลเลือดเป็นลบ ไม่มีการติดเชื้อ  ตรวจแล้วไม่พบเชื้อเอชไอวี
  • Reactive หรือ Positive คือ ผลเลือดเป็นบวก มีการติดเชื้อ พบเชื้อเอชไอวีในร่างกาย
  • Invalid คือ ไม่สามารถแปลผลได้ การตรวจไม่ถูกต้อง  หากผลตรวจออกมาเป็น Invalid จะต้องมีการตรวจอีกครั้ง เพื่อหาผลที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตามต้องระวังผลบวกปลอม (False positive) คือ อาจจะไม่ได้ติดเชื้อ แต่ผลตรวจออกมา positive พบได้น้อยมากในกรณีดังกล่าว และระวังผลลบปลอม (False negative) คือ มีการติดเชื้อ แต่ผลตรวจออกมาเป็น negative กรณีเกิดขึ้นได้เนื่องจากช่วงเวลาที่เราตรวจอาจเป็นช่วงเวลาที่อยู่ในระยะฟักตัวของเชื้อ เรียกระยะนี้ว่า Window period 

ดังนั้นทั้งสองกรณี แนะนำให้ตรวจซ้ำที่ 3-6 เดือน อีกครั้ง หรือหากได้รับการยืนยันจากแพทย์แล้วก็สามารถสบายใจได้

ขั้นตอนการตรวจเอชไอวีมีอะไรบ้าง?

1. แต่ละสถานที่อาจมีกระบวนการทำประวัติต่างกัน
    – หน่วยบริการของรัฐจะขอบัตรประชาชนเพื่อทำประวัติและตรวจสอบสิทธิ์
    – ศูนย์ดรอปอินอาจขอชื่อและวันเกิดเพื่อออกรหัสการใช้บริการและขอข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยง
    – คลินิคนิรนามอาจไม่ต้องให้ชื่อและเลขบัตรประชาชน แต่ก็ต้องกรอกประวัติด้านพฤติกรรมด้วย
2. กระบวนการตรวจเอชไอวีจะใช้เวลาประมาณ 20 – 40 นาที เจ้าหน้าที่จะช่วยประเมินความเสี่ยงและทำความเข้าใจเรื่องเอชไอวี จากนั้นจะให้ตัดสินใจว่าจะตรวจเอชไอวีหรือไม่ หากสนใจตรวจ เจ้าหน้าที่จะให้เซ็นชื่อในใบยินยอมเพื่อตรวจเอชไอวี
3. จากนั้นจึงจะทำการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อเอชไอวี
4. เจ้าหน้าที่อาจนัดมาฟังผลตรวจในวันอื่น หรือบางที่อาจแจ้งผลได้ภายในวันเดียวกันนั้นเลย
5. หลังจากได้ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้บริการปรึกษาอีกครั้งก่อนรับฟังผลเลือด และให้คำแนะนำเกี่ยวกับความหมายของผลตรวจ วางแผนการดูแลตนเองและแผนในการใช้ชีวิต
6. หากพบว่ามีเชื้อ เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลเลือดพร้อมตอบคำถามที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์

ประโยชน์ของการตรวจ เอชไอวี

  • เข้ารับการรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้แสดงอาการ 
  • เพื่อทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างปกติ 
  • สามารถวางแผนป้องกันคู่ของตนเองจากการติดเชื้อ และชวนคู่ไปตรวจเลือดได้ 
  • สามารถวางแผนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไปสู่ลูกได้ 
  • เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ และเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
  • ช่วยลดความกังวลใจ และทำให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ และการป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  • หากคุณติดเชื้อ ก็จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดการป่วยจากโรคฉวยโอกาส เช่น วัณโรค และลดการเสียชีวิตลง
  • สามารถลดโอกาสในการพัฒนาเป็นโรคเอดส์ได้อย่างมาก

ราคาตรวจเอชไอวี

คลินิกนิรนาม
– ตรวจแบบรู้ผลทันทีจะเริ่มต้นที่ 300 บาท
– ตรวจด้วยวิธี PCR เริ่มต้นที่ 1,500 บาท

โรงพยาบาลเอกชน
– ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 800-1,000 บาท

โรงพยาบาลรัฐ
– ฟรี หากคุณมีบัตรทองหรือ ประกันสังคม

สถานที่ตรวจเอชไอวีได้ฟรีตามโรงพยาบาลและคลินิกต่อไปนี้

1. ตรวจ HIV ฟรี ใน กทม.

  • คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย (ตรวจได้ทุกเพศ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.00 น.)
  • คลินิกชุมชนสีลม @ทรอปเมด (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชายและคนข้ามเพศ (Transgender) ในวันอังคาร-เสาร์ เวลา 16.00-21.00 น.)
  • คลินิกพิเศษของศูนย์ดรอปอิน
  • สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ซอยรามคำแหง 97/2 (ตรวจเฉพาะกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสอง ในวันจันทร์ พฤหัส ศุกร์ เวลา 15.00-20.00 น. และ เสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-17.00 น.)
  • นอกจากสถานพยาบาลดังข้างต้นแล้ว ยังสามารถเข้ารับการตรวจ HIV ฟรี ได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง และสถานพยาบาลภายใต้ระบบประกันสุขภาพ

2. ตรวจ HIV ฟรี ในต่างจังหวัด
สำหรับต่างจังหวัด สามารถไปตรวจ HIV ฟรี ได้ที่โรงพยาบาลรัฐ ศูนย์อนามัย หรือคลินิกที่ร่วมโครงการตรวจ HIV ฟรี

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน : ไขข้อข้องใจ…การตรวจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/455/การตรวจเอชไอวี(HIV)/
  • เลือดบวกคือ อะไร สาระน่ารู้เกี่ยวกับเอชไอวี https://www.thaihivtest.com/เลือดบวกคือ/
แชร์และบอกต่อ