เอดส์ เป็นภาวะป่วยขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่เม็ดเลือดขาวในร่างกายถูกทำลาย ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่องจนไม่สามารถต่อสู้กำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งนำไปสู่การเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่ทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีจึงควรทำความเข้าใจภาวะของตน และศึกษาวิธีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อลุกลามไปสู่ภาวะเอดส์ที่เป็นอันตรายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
บอกคนรอบข้างว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี
แม้การเปิดเผยตนเองอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัดใจ แต่การบอกให้ครอบครัว เพื่อน บุคคลใกล้ชิด หรือคู่นอนทราบว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั้งตนเองและคนรอบข้างจะได้เตรียมรับมือและปฏิบัติตัวตามข้อควรระวังหรือขั้นตอนต่าง ๆ ในการดูแลและอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้อย่างเหมาะสมปลอดภัย
รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้เคร่งครัดตรงเวลา
ผู้ป่วยควรเริ่มรับการรักษาทันทีเมื่อทราบผลว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และควรรับประทานยาอย่างเคร่งครัดตรงเวลาเสมอ เพราะยาอาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อเอชไอวี ป้องกันระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และลดโอกาสการแพร่เชื้อเอชไอวีสู่ผู้อื่นได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการและเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาได้ โดยแพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อติดตามจำนวนเชื้อเอชไอวีในร่างกาย สังเกตการตอบสนองต่อการรักษา และอาจรักษาภาวะติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อที่เกิดขึ้นบ่อย และรุนแรงในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ด้วย
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น
- ผัก
- ผลไม้
- พืชตระกูลถั่ว
- ธัญพืชไม่ขัดสี
- แหล่งโปรตีนที่มีไขมันต่ำ
เพราะการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อาจช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรง เป็นผลดีต่อการรักษาด้วยยา ลดความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงและอาการต่าง ๆ ของโรค ซึ่งช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับโรคได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ดูแลสุขภาพจิต
เป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยจะรู้สึกเครียด ซึมเศร้า และวิตกกังวลเป็นอย่างมากหลังจากทราบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งผู้ป่วยอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา รวมถึงเข้าร่วมกลุ่มพูดคุยให้คำปรึกษาต่าง ๆ ในท้องถิ่นหรือตามสังคมออนไลน์ เพื่อรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ คลายความกังวล และเสริมสร้างกำลังใจจากผู้ที่เห็นอกเห็นใจหรือมีประสบการณ์เดียวกัน ซึ่งผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลด้านนี้เพิ่มเติมได้จากสถานพยาบาลผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วไป
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจดูแลสุขภาพจิตได้โดยการทำจิตใจให้สงบ เช่น การนั่งสมาธิ หรือทำสมาธิจินตนาการถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกสงบ สบาย จนลืมเรื่องกังวลใจ เป็นต้น
เลิกบุหรี่
ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีมีแนวโน้มได้รับผลข้างเคียงต่าง ๆ จากการสูบบุหรี่มากกว่าคนทั่วไป อีกทั้งบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอด และปอดติดเชื้อ เป็นต้น
เลิกใช้ยาเสพติด
การใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน เฮโรอีน หรือยาบ้า อาจทำให้อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยแย่ลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสพยาด้วยการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ ที่อาจทำให้เชื้อเอชไอวีในร่างกายเจริญเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่หากเลิกเสพยาด้วยตนเองไม่ได้ ควรไปปรึกษาแพทย์หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบำบัดรักษาและเลิกใช้ยาเสพติด
ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
นอกจากการออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ส่งเสริมสุขภาพจิตและบุคลิกภาพที่ดีแล้ว ยังมีงานวิจัยที่พบว่าการออกกำลังกายอาจช่วยกระตุ้นให้ระบบการเผาผลาญอาหารของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทำงานได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อเอชไอวีสู่ผู้อื่น
เชื้อเอชไอวีสามารถแพร่กระจายผ่านทางของเหลวต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น ของเหลวจากช่องทวารหนัก ของเหลวจากช่องคลอด และน้ำนม เป็นต้น ดังนั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
ให้คู่นอนไป ตรวจเลือด และผู้ป่วยต้องรับประทานยาต้านเชื้อเอชไอวีอยู่เสมอ
ป้องกันตนเองจากการติดเชื้ออื่น ๆ เพิ่มเติม
หมั่นรักษาสุขภาพปากและฟันหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง โดยควรกลั้วคอและบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ รักษาโรคเหงือกและฟันที่เป็นอยู่ ตรวจสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์ปีละครั้ง ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ และไม่อยู่ใกล้ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยวัณโรคที่ปอด เพราะผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนปกติ จึงอาจทำให้ติดโรคได้ง่าย