ยาเป๊ป (Post-Exposure Prophylaxis : PEP) เป็นยาที่ใช้หลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี ควรได้รับยาเป๊ป (PEP) ทันที หรือภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยง ยิ่งได้รับยาเร็วยิ่งลดความเสี่ยงได้มาก โดยรับประทานวันละ 1 เม็ด ต่อเนื่องกัน 28 วัน หากรับประทานยาเป๊ป (PEP)อย่างถูกต้องและตรงเวลา จะมีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อเอชไอวีได้สูงมาก
ใครบ้างที่ควรรับยาเป๊ป (PEP)
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับผู้ที่ไม่ทราบผลเลือด
- ผู้ที่ถุงยางอนามัยแตก หลุด หรือฉีกขาด ขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มฉีดยาของผู้ป่วยทิ่มตำ
ผลข้างเคียงของการกินยาเป๊ป (PEP)
ยาเป๊ป (PEP) เป็นยาที่มีผลข้างเคียงน้อย โดยอาจมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน และเวียนหัว ในช่วงแรกที่เริ่มกินและอาการจะค่อย ๆ หายไปหลังจาก 1 สัปดาห์ หากอาการเหล่านี้ยังไม่หายแนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้การทานยาเป๊ป (PEP) ไม่ครบตามที่แพทย์กำหนด อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
ขั้นตอนการรับยาเป๊ป (PEP)
สำหรับผู้ที่ต้องการรับเป๊ป (PEP) จะต้องมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำการซักประวัติความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จากนั้นแพทย์จะพิจารณาความเหมาะสมในการจ่ายยา โดยจะต้องทำการตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่าผู้รับยาไม่มีเชื้อไวรัสเอชไอวีภายในร่างกาย ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ตรวจไวรัสตับอักเสบบี และตรวจการทำงานของตับและไต เพื่อให้มั่นใจว่ามีความพร้อมรับยาเป๊ป (PEP)
รับยาเป๊ป (PEP) ได้ที่ไหน ?
การรับยาเป๊ป (PEP) สามารถเข้ารับบริการได้ตาม สถานบริการของรัฐ เอกชน คลินิกนิรนาม หรือคลินิกเฉพาะทาง ที่มีแพทย์ประจำ เนื่องจากการรับยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ และจำเป็นจะต้องมีการตรวจเลือดทุกครั้งที่รับยา
ข้อแตกต่างยาเป๊ป (PEP) กับ ยาเพร็พ (PrEP)
ยาเป๊ป (PEP) | ยาเพร็พ (PrEP) |
ยาต้านไวรัส “หลัง” สัมผัสเชื้อเอชไอวี | ยาต้านไวรัส “ก่อน” สัมผัสเชื้อเอชไอวี |
ทานภายใน 72 ชั่วโมง หลังการสัมผัสเชื้อ | ทานก่อนมีความเสี่ยง 7 วัน |
ทานวันละ 1 เม็ด ต่อเนื่อง 28 วัน | ทานวันละ 1 เม็ด ทุกวันให้ตรงเวลา |
เหมาะสำหรับผู้ที่พึ่งผ่านความเสี่ยงมา | เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงอยู่ประจำ |