หนองใน เกิดจากแบคทีเรียชื่อ Neisseria gonorrhoeae ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคที่พบมากที่สุดทั่วโลก มีผลกระทบต่อผู้ป่วยหลายล้านคนต่อปี การติดเชื้อมักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็สามารถติดเชื้อในที่อื่นๆได้ เช่น ทวารหนัก ลำคอ หนองในอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ภาวะมีบุตรยาก ตั้งครรภ์นอกมดลูก และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี ในบทความนี้ เราจะศึกษาอาการ การรักษา และการป้องกันหนองใน โดยเข้าใจลักษณะของการติดเชื้อนี้ ผลที่อาจเกิดขึ้นได้ และวิธีป้องกันตัวเอง
หนองในมีกี่ประเภท
หนองในสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ หนองในแท้ และ หนองในเทียม
- หนองในแท้ เกิดจาก : เชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae ระยะฟักตัว : 1-10 วัน
- หนองในเทียม เกิดจาก : เชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis ระยะฟักตัว : 10 วันขึ้นไป
หนองในสาเหตุเกิดจากอะไร
หนองในมีสาเหตุมาจาก การติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae โดยเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุท่อปัสสาวะในผู้ชาย และทางปากมดลูกและท่อปัสสาวะของผู้หญิง ระยะฟักตัว 1 – 10 วัน แต่ที่พบบ่อยคือ 3 – 5 วัน ติดต่อกันผ่านทางเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นทางปาก ช่องคลอดหรือทางทวารหนัก
การวินิจฉัยหนองใน
หนองในสามารถวินิจฉัยได้หลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อจากบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยหนองใน เพศชายและเพศหญิง อาจมีข้อแตกต่างกัน คือ
- เพศชาย มักใช้การตรวจปัสสาวะ หรือเก็บตัวอย่างจากของเหลวที่ถูกขับออกมาจากปลายอวัยวะเพศ
- เพศหญิง มักใช้การเก็บตัวอย่างจากช่องคลอดหรือปากมดลูก หรือบางกรณีก็อาจมีการเก็บตัวอย่างจากบริเวณท่อปัสสาวะด้วย
อาการหนองใน
หนองใน มีอาการหลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหรืออวัยวะที่มีการติดเชื้อ เช่น ท่อปัสสาวะ บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ และทวารหนัก เมื่อมีอาการเกิดขึ้นแลัว มักแสดงออกภายใน 1-14 วัน หลังจากรับเชื้อ อาการที่พบบ่อยของหนองในทั้งผู้ชายและผู้หญิง ได้แก่
- มีตกขาวมากผิดปกติ
- เลือดออกทางช่องคลอด
- คันบริเวณปากช่องคลอด
- มีสารคัดหลั่ง (discharge) ออกมาทางทวารหนัก
- เจ็บเวลาปัสสาวะหรือขับถ่าย
- ปัสสาวะแสบขัด
- มีสารคัดหลั่งสีขาวข้นออกมาทางอวัยวะเพศ
- ลูกอัณฑะบวม
ภาวะแทรกซ้อนหนองใน
- ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูงขึ้น
- การติดเชื้อในกระแสเลือด
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะมีบุตรยาก
- มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- การอักเสบของลูกอัณฑะ อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในชาย
หนองในป้องกันได้อย่างไร
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยหนองใน
- รักษาความสะอาดอวัยวะเพศอยู่เสมอ
- หมั่นตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้ง
การรักษาหนองใน
หนองในสามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 95 ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด โดยแพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ Azithromycin Cefixime Ceftriaxone Gentamicin เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา หลังจากการรักษา 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรไปตามการนัดหมายของแพทย์ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจดูอีกครั้งให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดออกไปจนหมด และเป็นการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อขึ้นอีกครั้งหรือเกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม
หนองใน เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถก่อให้เกิดอาการ และภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะดีกว่าไหมหากเรารู้จักป้องกันไว้ก่อนเกิดโรค ด้วยวิธีง่ายๆโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และหมั่นตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำ