• Skip to primary navigation
  • Skip to main content
  • Skip to primary sidebar

เอชไอวี  [HIV]

  • Home
  • จองเวลาตรวจ
  • เอชไอวีและเอดส์
  • การป้องกันเอชไอวี
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • Contact
  • FAQ

เพร็พ

สิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ PrEP และ PEP

พฤษภาคม 18, 2023 by HIV Team

PrEP ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Pre-Exposure Prophylaxis และ PEP ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Post-Exposure Prophylaxis ทั้ง PrEP และ PEP เป็นยาที่ใช้สำหรับป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับความเสี่ยงเมื่อสัมผัสเชื้อเอชไอวี PrEP เป็นยาที่รับประทานทุกวัน ในขณะที่ PEP เป็นยาที่ต้องจำกัดเวลาหลังจากสัมผัสเชื้อ โดยที่ยาเหล่านี้เมื่อรวมกับการปฏิบัติทางเพศอย่างปลอดภัย และการตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ มีบทบาทสำคัญในการลดการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี และส่งเสริมสุขภาพทางเพศโดยรวม

สิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ PrEP และ PEP

ทำความเข้าใจ PrEP และ PEP

PrEP เกี่ยวข้องกับการรับประทานยาต้านไวรัสทุกวัน เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีคู่ผลเลือดต่าง คือ มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีเชื้อเอชไอวีและอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีเชื้อเอชไอวี หรือคนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับคู่นอนหลายคน และผู้ที่ฉีดสารเสพติดเข้าเส้นด้วยเข็มฉีดยา เมื่อรับประทานอย่างต่อเนื่อง PrEP สามารถลดโอกาสในการติดเชื้อเอชไอวีได้มากกว่า 90% เมื่อใช้ร่วมกับถุงยางอนามัย

ในทางกลับกัน PEP เป็นสูตรยาที่ใช้หลังจากสัมผัสเชื้อ HIV เพื่อป้องกันเช่นกัน และควรเริ่มยา PEP ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใน 72 ชั่วโมง และไม่เกินช่วงเวลานี้ หลังจากได้รับความเสี่ยง PEP คือยาต้านไวรัสที่กินร่วมกันเป็นเวลา 28 วัน โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยา PEP ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน กับคู่นอนที่ทราบว่าติดเชื้อ HIV หรือในกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ได้รับบาดเจ็บจากเข็มฉีดยา การเริ่มต้นของ PEP ทันที จะเพิ่มประสิทธิภาพ ในการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวี

เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ว่ายาต้านไวรัสทั้งสองชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพมาก ในการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ HIV แต่ก็ไม่สามารถให้การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ ดังนั้น ต้องมีการใช้ถุงยางอนามัยให้ถูกต้อง และหมั่นตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยสูงสุด

ใครบ้าง? ที่ควรกินเพร็พ และเป๊ป

PrEP

  • คนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • คนที่มีคู่รักผลเลือดต่าง
  • ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
  • คนที่มีอาชีพบริการทางเพศ
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์กันผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
  • คนที่เคยมีประวัติการใช้ยา PEP มาก่อน
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
  • คนที่ใช้เข็มฉีดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด

PEP

  • คนที่เพิ่งมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อไวรัส HIV
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์แล้วถุงยางอนามัยแตก หลุด รั่ว
  • คนที่มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น เพื่อเสพสารเสพติด
PrEP และ PEP มีความแตกต่างกันอย่างไร

เจาะลึกการทำงานของ PrEP และ PEP

เพร็พและเป๊ป เป็นสองกลยุทธ์สำคัญที่ใช้ในการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวี นี่คือภาพรวมโดยย่อ:

PrEP

  • PrEP เป็นยาที่ใช้รับประทานประจำวัน มียาต้านไวรัสที่สามารถลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ HIV ได้อย่างมาก
  • PrEP มีไว้สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เช่น ผู้ที่มีคู่นอนที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีพฤติกรรมที่ไม่ชอบสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • PrEP มีประสิทธิภาพสูง เมื่อรับประทานอย่างสม่ำเสมอ และตามที่แพทย์กำหนด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ HIV ได้มากกว่า 90%
  • การตรวจหาเชื้อเอชไอวีและการตรวจติดตามทางการแพทย์ เป็นสิ่งที่จำเป็นในขณะที่ใช้ยา PrEP เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และตรวจหาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละบุคคล

PEP

  • PEP เป็นการรักษาในระยะสั้นๆ หลังจากได้รับเชื้อ HIV เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันหรือการบาดเจ็บจากเข็มฉีดยา
  • PEP ใช้เวลาในการรับประทาน 28 วัน โดยเริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ควรให้รับประทานภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากได้รับเชื้อ
  • PEP ทำงานโดยป้องกันไวรัสจากการติดเชื้อถาวรในร่างกาย สิ่งสำคัญคือต้องไปพบแพทย์ทันทีหลังจากได้รับความเสี่ยงเพื่อประเมินความจำเป็นในการใช้ยา
  • PEP จะมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเริ่มทันทีและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตลอดการกินยา 28 วัน

ทั้งเพร็พและเป๊ปเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่เชื้อเอชไอวี PrEP ให้การป้องกันอย่างต่อเนื่องสำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะที่ PEP เสนอทางเลือกแบบจำกัดเวลาสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน สิ่งสำคัญคือต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อขอข้อมูลโดยละเอียดเพิ่มเติมและคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้เพร็พและเป๊ปที่เหมาะสม

เพร็พและเป๊ปต้องกินอย่างไร?

PrEP

  • กิน PrEP ต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน วันละ 1 เม็ด
  • กิน PrEP หลังเข้ารับการตรวจเลือดและปรึกษาแพทย์แล้ว
  • กิน PrEP อย่างเคร่งครัด มีวินัย และไม่ขาดยา
  • หากขาดยา ให้กินทันทีที่นึกขึ้นได้ ไม่ควรเบิ้ลการกินยา
  • ไม่ควรหยุดกิน PrEP เองโดยไม่ทำการปรึกษาแพทย์ก่อน

PEP

  • กิน PEP ทันทีหลังมีความเสี่ยงเอชไอวีไม่เกิน 72 ชั่วโมง
  • กิน PEP ต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน อย่างตรงต่อเวลาและไม่ขาดยา
  • กิน PEP หลังพบแพทย์และได้รับการจ่ายยาจากแพทย์เท่านั้น
  • กิน PEP ครบแล้วให้กลับไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจเอชไอวีอีกครั้ง

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โรคฝีมะม่วงจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

อาการคันอวัยวะเพศชาย ปัญหาที่ผู้ชายไม่ควรมองข้าม

เจาะลึกการทำงานของ PrEP และ PEP

ทั้งนี้ เพร็พและเป๊ปไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมดได้ การให้ความสำคัญในเรื่องถุงยางอนามัยจะมีส่วนช่วยให้กิจกรรมทางเพศของคุณมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเพร็พและเป๊ปไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา หรือร้านค้าออนไลน์ทั่วไป เนื่องด้วยที่กล่าวไปในเงื่อนไขของการกินยาเบื้องต้นว่า จะต้องเข้ารับการตรวจเลือดจากแพทย์เสียก่อน เพราะคนที่มีเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว ไม่อาจใช้ยานี้ในการกำจัดเชื้อออกไปจากร่างกายได้ ยังส่งผลเสียให้ผู้ติดเชื้อคนนั้นดื้อต่อยาต้านไวรัส และทำให้การรักษาในอนาคตมีความยุ่งยากซับซ้อนอีกด้วย

Filed Under: PrEP/PEP Tagged With: pep, prep, PrEP และ PEP, ป้องกันเอชไอวี, ยาต้านฉุกเฉิน, ยาต้านไวรัสเอชไอวี, เป๊ป, เพร็พ

ทำความเข้าใจก่อนใช้ PrEP และ PEP

กุมภาพันธ์ 7, 2022 by HIV Team

ก่อนใช้ PrEP กับ PEP

สิ่งสำคัญของยาต้านไวรัส HIV คือ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ทั้งก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อ หากพูดถึงวิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการสวมถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นวิธีป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อที่ปลอดภัย และลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากใช้ร่วมกับยาต้านไวรัส HIV ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น แต่ต้องใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งโดยคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาต้านเอชไอวี PrEP และPEP  ว่าทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนการใช้ยาต้านไวรัส HIV

PrEP และ PEP คืออะไร?

เพร็พ (PrEP-Pre-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ หรือเป็นการใช้ยาเพื่อเตรียมตัวไว้ก่อนจะมีโอกาสได้สัมผัสเชื้อ

เป๊ป (PEP- Post-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบที่เพิ่งได้สัมผัสเชื้อมาไม่เกิน 72 ชั่วโมง

PrEP & PEP ทำงานอย่างไร

PrEP & PEP ทำงานอย่างไร?

กลไกของยา PrEP

จะไปสะสมอยู่ในเม็ดเลือดขาวในเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งอวัยวะที่เป็นช่องทางเข้าของเชื้อ HIV เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ปากทวารหนัก เยื่อบุอวัยวะสืบพันธุ์ชาย ฯลฯ

เมื่อเชื้อ HIV เข้าไปในร่างกายในช่องทางดังกล่าว เชื้อก็จะถูกยาที่สะสมอยู่ก่อนหน้านั้นยับยั้งไม่ให้แบ่งตัว จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ แต่ก่อนจะเริ่มกินยา PrEP ต้องมีการตรวจเลือดให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้ติดเชื้อมาก่อน หรือมีผลเลือดเป็นลบ และต้องตรวรค่าการทำงานของไต ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาตลอดชีวิต แต่กินยาเฉพาะช่วงที่คิดว่าจะตัวเองจะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ

กลไกของยา PEP

จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของสารพันธุกรรมในเชื้อ และยับยั้งการกลายเป็นตัวไวรัสที่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันก่อนจะแพร่กระจายภายในร่างกายได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานยาให้เร็วที่สุด

ประโยชน์ของ PrEP & PEP คืออะไร?

PrEP ยาต้านไวรัสเอชไอวี แก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี ก่อนมีการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัสนั้น PrEP สามารถให้ได้ทั้งในรูปยากิน หรือสารฆ่าจุลินทรีย์ในรูปเจลผสมยาต้านไวรัสใส่ในช่องคลอด หรือในทวารหนัก และห่วงบรรจุยาต้านใส่ในช่องคลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ทันท่วงทีหลังการสัมผัสเชื้อ และเป็นการเพิ่มการป้องกันต่อการติดเชื้อ HIV

PEP ยาต้านไวรัสไอวีที่ช่วยลดโอกาสในการสร้างไวรัสเอชไอวีในร่างกายหลังจากที่ร่างกายได้รับการสัมผัสเชื้อ ซึ่งมาจากหลายรูปแบบ อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรืออุบัติเหตุจากการโดนเข็มฉีดยาตำ เป็นต้น

PrEP & PEP เหมาะกับใคร ใครบ้างที่ควรได้รับยา

PrEP เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง 

  • ชายที่มีเพศสัมพันธ์ชาย
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
  • ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ
  • ผู้ที่มาขอรับบริการ Post-Exposure Prophylaxis (PEP) อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้
  • ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
  • ผู้มีคู่ผลเลือดบวกและคู่กำลังรอเริ่มยาต้านเอชไอวีอยู่หรือคู่ได้รับยาต้านเอชไอวีแล้วแต่ยังคงตรวจพบเชื้อไวรัสในเลือดอยู่ หรือะรอดูผลการรักษา
  • ผู้ที่มีคู่ผลเลือดบวกที่ไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดที่กำลังฉีดอยู่หรือฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 6 เดือนรวมถึงผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่สวมถุงยางอนามัย และมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อ HIV

PEP เหมาะสำหรับผู้ที่คาดว่ามีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี มาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง

ซึ่งจะใช้ในกรณีดังนี้

  • ผู้ที่คิดว่าตนเองอาจสัมผัสกับเชื้อ HIV เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อ ถุงยางอนามัยฉีกขาด เป็นต้น
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดที่มีการฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 6 เดือน รวมถึงผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือน
  • บุคลากรสาธารณสุขที่ถูกเข็มฉีดยาของผู้ป่วยทิ่มตำ
จะรับ PrEP & PEP ได้อย่างไร

จะรับ PrEP & PEP ได้อย่างไร

การรับ PrEP

  • งดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนมารับ PrEP
  • ผู้มารับบริการจะต้องได้รับการตรวจเอชไอวี การทำงานของตับและไต 
  • หลังจากที่ได้รับยา PrEP ครั้งแรกจะนัดตรวจเลือด 1 เดือน หลังจากนั้นนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน 
  • หากต้องการหยุดยา ผู้มารับบริการต้องมาตรวจเลือดก่อนหยุดยา PrEP ทุกครั้ง

การรับ PEP

  • ก่อนที่ผู้รับบริการจะรับยา PEP แพทย์จะซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยา PEP หรือไม่ 
  • แพทย์จะสั่งตรวจเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยา PEP
  • หากติดเชื้อ HIV อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยา PEP ได้
  • หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ตรวจเอชไอวีซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน 
  • งดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

วิธีการกินยา PrEP & PEP

  • กินยา PrEP นี้เป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง แพทย์จะนัดทุก 3 เดือน เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา ถ้าไม่มีความเสี่ยงแล้ว สามารถหยุดได้หลังมีความเสี่ยงครั้งสุดท้าย 4 สัปดาห์
  • กินยา PEP ต้องได้รับทันที ห้ามเกิน 72 ชั่วโมง รับยาติดต่อกัน 28 วัน มีสูตรยาหลายสูตรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
PrEP & PEPป้องกันได้มากเท่าไหร่

PrEP & PEPป้องกันจากการติดเชื้อเอชไอวีได้มากแค่ไหน

การใช้ยา PrEP อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง โดยกินต่อเนื่องทุกวันไปอย่างน้อย 7 วันก่อนที่จะมีความเสี่ยง จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ได้มากกว่า 90 % ส่วนในกรณีของผู้ใช้ยาเสพติดแบบฉีด สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้ถึง 70%

การใช้ยา PEP ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ 100% แต่เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อการที่คนคนนึงจะติดเชื้อ HIV หรือไม่หลังได้รับยา PEP นั้นมีมากมายหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งของโรคที่รับเชื้อมา ว่ามีปริมาณ viral load มากน้อยแค่ไหน ความเข็งแรงของตัวคนไข้เอง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อโอกาสที่คนไข้จะติดหรือไม่ติดเชื้อ HIV ทั้งสิ้น 

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

  • เพร็พ (PrEP
  • เป๊ป (PEP) ยาต้านฉุกเฉิน ทานภายใน 72 ชั่วโมง

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • PrEP กับ PEP คืออะไร ทำความเข้าใจก่อนใช้ https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/prep-กับ-pep-คืออะไร-ทำความเข้าใ/
  • PrEP กับ PEP http://wongkarnpat.com/viewya.php?id=2401
  • เพร็พ (PREP) ,เป็ป (PEP) คืออะไร https://th.trcarc.org/เพร็พ-prep-เป็ป-pep-คืออะไร/
  • ยาต้านไวรัส HIV อีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่อาจช่วยลดความเสี่ยง https://www.pobpad.com/ยาต้านไวรัส-hiv-อีกหนึ่งทา

Filed Under: PrEP/PEP, การป้องกันเอชไอวี, ยาต้านไวรัสเอชไอวี Tagged With: HIV, pep, prep, ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี, ยาต้านไวรัส, เป๊ป, เพร็พ, เอชไอวี

ป้องกันเอชไอวี HIV

กันยายน 5, 2019 by admin

ป้องกันเอชไอวี  HIV

การป้องกันเอชไอวี หรือป้องกันเอดส์นั้น สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

…

Read More

Filed Under: การป้องกันเอชไอวี Tagged With: pep, prep, เป๊ป, เพร็พ

Primary Sidebar

เรื่องล่าสุด

  • Love2test
  • หนองใน : อาการ การรักษา และการป้องกัน
  • ทำไม การตรวจ HIV ถึงจำเป็นสำหรับทุกคน?
  • ไม่รักษาเอชไอวี ได้ไหม?
  • สิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ PrEP และ PEP

Copyright © 2023 เอชไอวี [HIV]