ซิฟิลิส : การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกัน

พฤษภาคม 2, 2023
Written By HIV Team

ซิฟิลิส การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกัน

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นการติดเชื้อทางเพศที่เกิดจากแบคทีเรีย Treponema pallidum ซึ่งเป็นการติดเชื้อทางเพศที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาโรคอาจจะลุกลามไปทำลายอวัยวะอื่นๆได้ เช่น หัวใจ หลอดเลือด ระบบประสาท กระดูก ทำให้พิการ และอาจเสียชีวิตได้ บทความนี้จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาการ การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันซิฟิลิส

ซิฟิลิส ติดต่อได้อย่างไร ?

ซิฟิลิส เป็นโรคที่ติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก เเละยังสามารถติดต่อได้โดยเเม่สู่ลูกขณะที่ตั้งครรภ์ ทำให้ทารกติดเชื้อตั้งแต่กำเนิด  การติดเชื้อยังสามารถติดต่อได้จาก การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับบุคคลที่ติดเชื้อ

Love2test
การวินิจฉัยของซิฟิลิส

การวินิจฉัยของซิฟิลิส

การวินิจฉัยซิฟิลิส ตรวจยืนยันได้จากการเจาะเลือด หรืออาจมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากบริเวณที่มีการติดเชื้อ เช่นแผลริมแข็ง ไปตรวจหาเชื้อร่วมด้วย ส่วนในระยะที่สาม แพทย์อาจเจาะน้ำจากไขสันหลังเพื่อตรวจความผิดปกติในระบบประสาทร่วมด้วย นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจการติดเชื้ออื่นๆ ที่อาจพบร่วมกันได้ จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เช่น เอชไอวี

อาการของ ซิฟิลิส

อาการของซิฟิลิส จะมีความแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับขั้นตอนของการติดเชื้อ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ซิฟิลิสระยะแรก

หลังจากได้รับเชื้อไปประมาณ 3 สัปดาห์ ในผู้ชายจะเริ่มมีแผลริมแข็ง (Chancre) บริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ไม่เจ็บ ในผู้หญิง แผลอาจจะซ่อนอยู่ในช่องคลอด และในบางคนจะพบแผลบริเวณทวารหนักได้ ผู้ป่วยหลายรายไม่ทราบว่าเคยมีแผลลักษณะนี้มาก่อน เนื่องจากแผลจะสามารถหายได้เองในระยะเวลาไม่นาน แต่เชื้อซิฟิลิส จะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและก่อเกิดโรคซิฟิลิส ในระยะต่อไป

ซิฟิลิสระยะสอง

หลังจากแผลริมแข็งหายไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะเกิดอาการของโรคซิฟิลิส ในระยะที่ 2 โดยเชื้อซิฟิลิสได้เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้วเข้าไปในกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการทางร่างกายอื่นๆ ได้แก่ ไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ มีผื่น ซึ่งมักจะพบบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า สามารถพบผื่นบริวเณแขนขาและลำตัวได้เช่นกัน โดยจะไม่มีอาการคันในบริเวณผื่น ผื่นอาจจะหายได้เองจะเกิดเป็นซ้ำอีก

ซิฟิลิสระยะแฝง

ระยะนี้เป็นระยะที่ไม่มีอาการใดๆ ซึ่งกินระยะเวลานานได้เป็นปี โดยเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยเป็นซิฟิลิส ระยะที่ 2 แล้วไม่ได้รับการรักษา โดยส่วนใหญ่จะตรวจพบขณะมาตรวจเลือด เช่น มารดาตรวจพบขณะฝากครรภ์ หรือการตรวจสุขภาพที่ระบุการตรวจเชื้อซิฟิลิส เป็นต้น

ซิฟิลิสระยะสาม

ระยะนี้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยอาจมีอาการ ตาบอด หูหนวก มีอาการพิการทางสมอง มีโรคหัวใจ เส้นเลือด ตับ กระดูก และข้อต่อต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อนานหลายปีโดยไม่ได้รับการรักษา

การรักษาซิฟิลิส

ซิฟิลิสสามารถรักษาได้ การรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับระยะของการติดเชื้อ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เพื่อกำจัดเชื้อซิฟิลิส ถึงแม้ว่าอาการของโรคในระยะแรก มักเกิดขึ้นแล้วหายไป และอาการในระยะท้ายมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม และหยุดการลุกลามของโรคได้

การป้องกันซิฟิ ลิส

การป้องกันซิฟิลิส

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ขอบคุณข้อมูล : ch9airport

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

ซิฟิลิส สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้น สำหรับใครที่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซิฟิลิส ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซิฟิลิสและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ

แชร์และบอกต่อ