โรคฝีมะม่วง ถือเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ที่อาจพบได้น้อยกว่ากามโรคยอดฮิตอย่าง หนองใน เริม หรือซิฟิลิส แต่ก็เป็นอีกหนึ่งการติดเชื้อที่ส่งผลโดยตรง กับอวัยวะเพศทั้งหญิงและชาย (ส่วนใหญ่จะพบในเพศชายมากกว่า) สร้างความเจ็บปวดและอาการที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในอนาคตหากไม่ได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง
โรคฝีมะม่วง เป็นอย่างไร
ฝีมะม่วง หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า LGV ย่อมาจาก Lymphogranuloma Venereum ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียคลามีเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ชนิด L1-L3 ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้สวมถุงยางอนามัยป้องกัน หรือการสัมผัสถูกหนองของฝีมะม่วงโดยตรง เหตุที่เรียกโรคนี้ว่าฝีมะม่วง เพราะผู้ติดเชื้อจะมีอาการต่อน้ำเหลืองบวมโตที่บริเวณขาหนีบหรือต้นขาด้านใดด้านหนึ่ง เกิดการอักเสบปวดบวม ทำให้ยากต่อการเดิน รวมทั้งอาจมีตุ่มหรือแผลขนาดเล็กที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก ส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดที่อวัยวะเพศเวลาถ่ายปัสสาวะ อุจจาระไม่ออก หรือรูทวารตีบลง หากเกิดขึ้นบริเวณปากช่องคลอดของผู้หญิง จะทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ ท้องนอกมดลูกได้ หรือปวดท้องน้อยเรื้อรังต่อเนื่อง ท้ายที่สุดอาจประสบกับภาวะมีบุตรยากได้ด้วย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นฝีมะม่วง
- ไม่สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือใช้บริการผู้ให้บริการทางเพศไม่ซ้ำหน้า
- ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หรือมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ทำออรัลเซ็กส์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยโดยเฉพาะ
- สวนล้างอวัยวะเพศรุนแรง หรือใช้น้ำยาสวนทวารหนัก
ลักษณะอาการของ โรคฝีมะม่วง
ระยะฟักตัวหลังได้รับเชื้อของโรคฝีมะม่วงนี้ จะที่อยู่ราวๆ 3 วันไปจนถึง 45 วันเลยทีเดียว ส่วนใหญ่จะเกิดแผลที่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์และจะเกิดอาการอักเสบที่ต่อมน้ำเหลืองประมาณ 1 เดือน โดยอาการของโรคฝีมะม่วง แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ฝีมะม่วงระยะที่ 1
- มีตุ่มนูนหรือแผลตื้นขนาดเล็กปรากฏขึ้นมา แต่ไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด
- แผลอาจจะค่อยๆ เปื่อยขึ้นมา และหายไปได้เองภายในไม่กี่วัน
- บวมบริเวณต่อมน้ำเหลืองและมีก้อนนุ่มนูนขึ้นมา
- มีอาการคล้ายกับคนที่เป็นโรคท่อปัสสาวะอักเสบ คือ ปัสสาวะบ่อย แต่ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะไม่สุด ปวดบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะมีสีขุ่น บางครั้งมีเลือดปนออกมาด้วย
ฝีมะม่วงระยะที่ 2
- มีก้อนนุ่มสีใสขนาดใหญ่คล้ายลูกมะม่วง เกิดบริเวณขาหนีบหรือต่อมน้ำเหลืองข้างใดข้างหนึ่ง
- เริ่มรู้สึกปวด มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้องน้อย ปวดหลัง และปวดตามข้อ
- มีผื่นแดง และตุ่มแข็งขนาดใหญ่ขึ้นที่ผิวหนังของร่างกาย
- หากเชื้อมีความรุนแรงมาก อาจทำให้เยื่อตาอักเสบ เยื่อหุ้มสมอง สมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ ตับโต ปอดบวม หรือข้ออักเสบได้
ฝีมะม่วงระยะที่ 3
- ในระยะนี้จะปรากฏอาการของโรคในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีเชื้อนี้อยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลาหลายเดือนหรืออาจนานกว่า 10-20 ปีได้เลยทีเดียว
- มีอาการอักเสบที่บริเวณลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง
- รู้สึกคันที่ทวารหนัก ช่องคลอด ปลายองคชาต
- มีเลือดกับมูกปนหนองออกมาจากรูทวารหนัก ช่องคลอด ปลายองคชาต
- ปวดเบ่งที่ลำไส้ตรง เหมือนอยากจะถ่ายหนักตลอดเวลา มีหนองไหลออกทางรูทวาร
- อาจทำให้เกิดฝี ท่อน้ำเหลืองอุดตัน ลำไส้ตรงผิดรูป ลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรงติดเชื้อ
- หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นแผลลุกลาม ส่งผลให้อวัยวะสืบพันธุ์เกิดความผิดปกติ
การตรวจวินิจฉัย โรคฝีมะม่วง
การไปตรวจและปรึกษาแพทย์ ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้คุณได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการตรวจร่างกาย รวมทั้ง ซักประวัติการมีเพศสัมพันธ์ ควรแจ้งรายละเอียดตามจริง เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงต่อความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ อาจมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เพื่อประกอบการรักษา เช่น
- ตรวจชื้นเนื้อ ด้วยการใช้เข็มขนาดเล็ก เจาะผ่านผิวหนัง เพื่อตัดและนำตัวอย่างชิ้นเนื้อ ของบริเวณแผลฝีมะม่วง หรือนำสารคัดหลั่งจากแผล หรือเนื้อเยื่อของลำไส้ตรง ออกไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรียว่ามาจากเชื้อฝีมะม่วงจริงหรือไม่
- ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝีมะม่วง
- ตรวจ CT Scan แพทย์จะทำการซีทีสแกน เพื่อตรวจดูระดับของภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดขึ้น รวมทั้งหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการของโรค
- ตรวจลำไส้ แพทย์จะทำการส่องกล้อง เพื่อตรวจความผิดปกติ ในกรณีที่พบอาการป่วยบริเวณลำไส้และรูทวารหนัก
โรคฝีมะม่วง รักษาหายขาดหรือไม่?
เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจและวินิจฉัยผลออกมาเป็นที่แน่นอนแล้วว่า คุณติดเชื้อฝีมะม่วง ก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งโรคนี้สามารถหายขาดได้ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วยโรคฝีมะม่วง เพื่อใช้รับประทานรักษาการติดเชื้อ และป้องกันเชื้อแบคทีเรียทำลายเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ประกอบด้วย
- ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ขนาด 100 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 21 วัน
- ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ขนาด 2 กรัม เป็นเวลา 20 วัน
การรักษาด้วยการผ่าตัด
ฝีมะม่วงมักเกิดก้อนฝี หรือต่อมน้ำเหลืองบวมโตขึ้น ซึ่งจะต้องเจาะผิว เอาของเหลวในฝีออกมา เพื่อบรรเทาอาการปวดให้ทุเลาลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายที่มีฝีมะม่วง และลำไส้ตรงตีบ เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่มีความรุนแรง ก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเช่นกัน
ไม่อยากเป็น โรคฝีมะม่วง ป้องกันอย่างไร
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล หรือสารคัดหลั่งที่บริเวณอวัยวะเพศ
- หมั่นสังเกตและตรวจร่างกายของตนเองและคู่นอนให้มั่นใจว่าปลอดเชื้อกามโรค
- รักเดียวใจเดียว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่ใช้บริการผู้ให้บริการทางเพศ
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์ ลดโอกาสติดทั้งเชื้อไวรัสเอชไอวีและเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ขาดสติเสี่ยงติดโรคได้ง่าย เช่น การลืมใช้ถุงยางอนามัยนั่นเอง
อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อาการคันอวัยวะเพศชาย ปัญหาที่ผู้ชายไม่ควรมองข้าม
โรคฝีมะม่วง สำคัญที่ในระหว่างการรักษาอยู่ ควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนจนกว่าจะหายดี และควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อที่จะได้หายขาดจากโรคได้ไว รวมไปถึง การชวนคู่นอนของคุณมารับการตรวจวินิจฉัยด้วย หากติดเชื้อเหมือนกันก็จะได้ทำการรักษาไปพร้อมกัน ลดโอกาสการติดเชื้อซ้ำซ้อนในอนาคต เพื่อให้คุณมีสุขภาพทางเพศที่ปลอดภัยและห่างไกลจากโรคร้ายครับ