การตรวจ HIV คือ การนำสารคัดหลั่งจากร่างกายไปตรวจหาเชื้อ HIV ในห้องปฏิบัติการ โดยสามารถเก็บตัวอย่างได้จากการขูดเซลล์หรือน้ำลายในช่องปาก แต่ที่นิยมในปัจจุบันก็คือ การตรวจจากเลือด ซึ่งมีให้บริการทั่วไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ หรือเอกชน คลีนิกนิรนาม คลินิกเฉพาะทาง สามารถเลือกได้ตามความสะดวกของแต่ละบุคคล
เนื้อหาสำคัญ
เอชไอวี คืออะไร ?
เอชไอวี (HIV : Human Immunodeficiency Virus) คือ เชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้ง่ายมากกว่าปกติ อีกทั้งหากไม่เข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วแล้ว จะส่งผลต่อร่างกายทำให้เข้าสู่ระยะรุนแรงที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อว่า ระยะเอดส์ นั่นเอง
ทำไมต้องตรวจ HIV
การตรวจ HIV เป็นทางเลือกในการป้องกันที่สำคัญไม่แพ้การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งยังเป็นการเพิ่มการตระหนักถึงการดูแลตนเอง และคู่นอนด้วย เพราะไม่ว่าอย่างไรการติดเชื้อเอชไอวีอาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย บางรายมีเชื้อเอชไอวีในร่างกายแต่ไม่รู้ตัวว่าตนติดเชื้อ ประกอบกับโดยทั่วไปแล้วผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะไม่แสดงอาการให้เห็นได้ชัดเจน จนในที่สุดอาการก็ลุกลามไปสู่ระยะรุนแรง ทำให้ไม่สามารถรับมือกับอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ดังนั้นการตรวจ HIV เป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำอย่างยิ่งในทุก ๆ ปี เช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำปี
ตรวจ HIV ราคาเท่าไหร่ ?
ในปัจจุบันการตรวจ HIV เป็นเรื่องที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้สิทธิการตรวจ HIV ของประชาชนไทยภายใต้หลักสุขภาพ โดยสามารถเข้ารับการตรวจเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ภายในสถานพยาบาลที่มีสิทธิทั่วประเทศ หรือเลือกเข้ารับการตรวจ HIV ในคลีนิกนิรนาม และคลินิกเฉพาะทางโดยตรง หากต้องการความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องการเผยข้อมูลส่วนตัว สามารถเลือกได้ตามความสะดวกของแต่ละบุคคลได้เช่นเดียวกัน โดยค่าใช้จ่ายของแต่ละแห่งอาจแตกต่างกันไป แนะนำให้สอบถามก่อนตัดสินใจเลือกเข้ารับการตรวจ HIV
ใครบ้างที่ควรตรวจ HIV ?
การตรวจ HIV เป็นเรื่องใหญ่สำหรับใครหลายคน ด้วยความที่ว่าไม่มั่นใจว่าตนเองนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ ตลอดจนมองว่าการตรวจ HIV ควรเข้ารับการตรวจเมื่อจำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากคุณคือหนึ่งในผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจพร้อมทั้งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
- ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ผู้ที่ถุงยางแตก หลุด หรือฉีกขาด ระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับบุคคลอื่น
- ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยขาดสติ
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยวัณโรค
การตรวจ HIV ใช้เวลานานหรือไม่ ?
ระยะเวลาในการตรวจ HIV จะขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจที่เลือกใช้ แต่หากต้องการระยะเวลาที่แน่นอน แนะนำให้สอบถามโดยตรงกับสถานพยาบาลนั้น ๆ ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วการตรวจ HIV จะพิจารณาจากระยะความเสี่ยงต่อการติดเชื้อครั้งล่าสุด ดังนั้นการให้ข้อมูลโดยละเอียดต่อแพทย์ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพิจารณาวิธีการตรวจด้วยเช่นกัน เพื่อประสิทธิภาพการตรวจที่แม่นยำและระยะเวลาในการทราบผลที่เหมาะสม
หลังจากทราบผลว่าติดเชื้อเอชไอวีควรทำอย่างไร?
เจ้าหน้าที่ จะให้คำแนะนำกับคุณและเปิดโอกาสให้คุณได้ปรึกษาเกี่ยวกับการรักษา การรับมือด้านการดูแลตนเอง ตลอดจนการชี้แจงต่อคนในครอบครัวให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้คุณควรตั้งสติให้ได้มากที่สุดโดยเปิดใจรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ พร้อมกับปฏิบัติตามข้อแนะนำต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้คุณเข้าสู่กระบวนการรักษาเอชไอวีได้อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการดูแลตนเองและการรักษาอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติอย่างคนทั่วไป
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม
การตรวจ HIV เป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำอย่างยิ่งในทุก ๆ ปีเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำปี ในปัจจุบันการตรวจ HIV เป็นเรื่องที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น โดยประชาชนไทยสามารถเข้ารับการตรวจเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ภายในสถานพยาบาลที่มีสิทธิทั่วประเทศ