ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อฟิลิสเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มรักร่วมเพศ รวมไปถึงผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้พบทารกติดเชื้อตั้งแต่กำเนิดเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายได้ หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว ซิฟิลิสสามารถป้องกันได้ เพียงตรวจเลือด และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างถูกวิธี
เนื้อหาสำคัญ
ซิฟิลิสคืออะไร ?
ซิฟิลิส ( Syphilis ) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไปแล้วยังอาศัยอยู่ในร่างการของมนุษย์ได้เกือบทุกส่วนในร่างกาย หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงตามมาภายหลัง การติดเชื้อซิฟิลิสนั้น ส่วนใหญ่จะเริ่มติดตั้งแต่ระยะที่ 1 – 2 เป็นระยะที่เชื้อแพร่กระจายได้มากที่สุด สาเหตุสำคัญที่มักจะพบบ่อยที่สุดของการติดซิฟิลิส คือ การสัมผัสเชื้อโดยตรงจากบาดแผลของผู้ป่วย โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีรอยแผลและมีเชื้อ
ซิฟิลิสอาการเป็นอย่างไร ?
อาการของซิฟิลิส หลังติดเชื้อประมาณ 10-90 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีตุ่มเล็กๆ ขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ขึ้นที่อวัยวะเพศ ช่องคลอด แล้วแต่ว่าจะติดเชื้อที่บริเวณใดบ้าง จากนั้นตุ่มจะขยายกว้างขึ้นและใหญ่ขึ้น แตกออกกลายเป็นแผลกว้าง แผลเป็นรูปกลม แผลไม่ค่อยเจ็บมาก เรียกว่า “แผลริมแข็ง (chancre)” โดยแผลอาจเป็นแผลเดียวหรือแผลติดกันได้ จากนั้นอีก 1 สัปดาห์เชื้อจะเข้าไปในต่อมน้ำเหลืองทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งช่วงนี้หากตรวจก็จะตรวจพบเชื้อในกระแสเลือด ทั้งนี้หากปล่อยไว้นานไม่มีการรักษา อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนไปยังอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง เส้นประสาท หรืออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะนั้น เกิดอาการ “อัมพาต” ไม่สามารถทำงานได้ เช่น ตาบอด สมองเสื่อม หูหนวก ไร้สมรรถภาพทางเพศ เสียสติ และเสียชีวิตในที่สุด
ซิฟิลิสมีกี่ระยะ ?
- ระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กตรงจุดที่เกิดการติดเชื้อโดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศในระยะนี้จะเกิดแผลหลังรับเชื้อไปแล้วไม่เกิน 2 เดือน และหายไปเองภายใน 6 สัปดาห์
- ระยะที่ 2 อาการจะพัฒนาจากระยะที่ 1 ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยจะเกิดตุ่มขึ้นตามตัว น้ำหนักลดลง ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวม และผมร่วง เป็นต้น แต่ก็เช่นเดียวกับระยะที่ 1 อาการเหล่านี้สามารถหายได้เองเช่นกัน
- ระยะสงบ เป็นระยะที่ผู้ป่วยแทบไม่แสดงอาการแต่ยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ซิฟิลิสระยะสุดท้าย
- ระยะที่ 3 หากมาถึงระยะนี้และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลข้างเคียงอย่างรุนแรง เช่น มีผลต่อระบบประสาท หัวใจ สมอง เป็นอัมพาต เสียสติ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ซิฟิลิสติดต่อทางไหนบ้าง ?
- ทางปาก ผ่านการจูบ
- ทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน
- จากแม่สู่ลูก ในครรภ์
- รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ
- สัมผัสโดยตรงกับแผลผู้ป่วย
ใครบ้างที่ควรตรวจซิฟิลิส ?
- ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ผู้ที่คิดว่าคู่นอนของตัวเองมีความเสี่ยงต่อโรคซิฟิลิส
- ผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่กำลังวางแผนจะมีบุตร
- กลุ่มคนทั่วไปที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์
- กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับบริจาคเลือด
ซิฟิลิสป้องกันได้อย่างไร ?
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- งดมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ป่วยเป็นซิฟิลิส
- ไม่ใช้เข็มร่วมกันกับผู้อื่น
- ตรวจคัดกรองเมื่อมีความเสี่ยง
การรักษาซิฟิลิส
ปัจจุบันนิยมรักษาด้วย ยาเพนนิซิลิน ซึ่งเป็นยาที่ได้ผลดีในการรักษาโรคนี้ให้หายได้ โดยการฉีดยาเพนนิซิลินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ต่อเนื่องในการทำลายเชื้อ ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาเพนนิซิลิน จะให้ยาชนิดอื่นรับประทาน เช่น อีริโทรมัยซินรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน 1 เดือน
การปฏิบัติตัวระหว่างรักษาซิฟิลิส
- พบแพทย์ตามแผนการรักษา
- หากรับการรักษาไม่ครบตามคำสั่งแพทย์ ต้องเริ่มต้นรักษาใหม่
- หากมีประวัติแพ้ยาเพนนิซิลิน ต้องบอกให้แพทย์ทราบก่อนการรักษา
- แพทย์จะนัดมาตรวจเลือดหลังได้รับการรักษาครบ 3 เดือนและนัดเป็นระยะๆ
- หากตั้งครรภ์ ควรมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารกในครรภ์
- สำหรับทารกที่เกิดจากมารดาที่มีเชื้อซิฟิลิส ควรได้รับการดูแลโดยกุมารแพทย์ ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อลดความผิดปกติของอวัยวะในระยะยาว
- ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะจะทำให้โรคไม่หายขาดและอาจแพ้ยาได้
อ่านบทความอื่นๆ
ขอบคุณข้อมูล : sikarin, si.mahidol, petcharavejhospital, hdmall