เห็นแค่ภายนอก แต่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครป่วยเป็นโรคซิฟิลิสหรือใครไม่ป่วย เพราะระยะฟักตัวขอโรคซิฟิลิส ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ คือแทบจะไม่แสดงออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด เพราะฉะนั้นการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จึงเป็นวิธีการป้องกันที่ปลอดภัยจากโรคนี้รวมถึงเชื้อเอชไอวีด้วย
เนื้อหาสำคัญ
ซิฟิลิสคืออะไร?
ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema pallidum)” ซึ่งเป็นเชื้อที่มีขนาดเล็กมาก สามารถอาศัยอยู่ได้เกือบทุกส่วนในร่างกายของคนเรา
ระยะฟักตัวของซิฟิลิส
โรคซิฟิลิสมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 3-21 วันหลังจากได้รับเชื้อ โดยมีอาการดังนี้
- ระยะแรก คือ ผู้ติดเชื้อซิฟิลิส จะเริ่มมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ เช่น ช่องคลอด ทวารหนัก องคชาติ หรือบริเวณปาก (หากมีการทำออรัลเซ็กส์)
- ระยะที่สอง เชื้อจะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ติดเชื้อซิฟิลิสจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย เริ่มมีผื่นขึ้นตามที่ต่าง ๆ ทั้งบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่ไม่รู้สึกเจ็บปวดและไม่มีอาการคันแต่อย่างใด บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ รู้สึกอ่อนเพลีย หรือมีผมร่วง
- ระยะที่สาม คือ ระยะเรื้อรังที่เชื้อซิฟิลิสเริ่มเข้าไปทำลายอวัยวะสำคัญส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ สมอง หัวใจ หลอดเลือด เส้นเลือด ตับ กระดูก เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสรู้สึกตัวชา และดวงตาค่อย ๆ เริ่มมืดบอด
โรคซิฟิลิสกลับมาระบาดอีกครั้ง
ในอดีต “ซิฟิลิส” เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทุกคนค่อนข้างหวาดกลัว แต่ก็ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการฉีดยา หรือการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เนื่องจากผู้ติดเชื้อซิฟิลิสจะไม่แสดงอาการของโรคออกมาอย่างเด่นชัด จนกระทั่งการดำเนินของโรคเข้าสู่ระยะท้าย ๆ ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมักไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่แสดงอาการ ไม่ได้ทำการตรวจเลือด รวมทั้งกลายเป็นพาหะของโรคไปโดยไม่ตั้งใจ
ระยะหลังมานี้ โรคซิฟิลิสได้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง อาจเป็นเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงและผู้คนสามารถนัดเจอพูดคุยกันได้ง่าย ผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกได้มากขึ้น ซึ่งจากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า โรคหนองในเป็นโรคที่พบมากที่สุด คิดเป็น 15.13 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือโรคซิฟิลิส 11.91 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561
บทความที่เกี่ยวข้อง
ถึงแม้ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้มียาเป๊ป (PEP) ยาต้านเอชไอวีหลังเสี่ยง และยาเพร็พ (PrEP) ยาต้านเอชไอวีก่อนเสี่ยง ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ศึกษาคุณสมบัติของยาให้ดีเสียก่อน ไม่รู้สึกกลัวโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ เพราะคิดว่าตนเองมีเกราะป้องกันแล้วหนึ่งชั้น และผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิส มักจะไม่นิยมสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จึงทำให้เกิดการระบาดของโรคได้อย่างง่ายดาย ซึ่งอันที่จริงแล้วผู้ที่รับประทานยาเพร็พ ไม่ควรมองว่าเป็นวิธีแรกที่จะป้องกันเอชไอวี แต่ให้มองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และควรป้องกันควบคู่ไปกับการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง จะช่วยทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่ทำให้ซิฟิลิสน่ากลัว
อาการสำคัญของโรคซิฟิลิสที่น่ากลัว คือ อาการส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยแสดงออกมาให้เห็น หรือที่เรียกว่า “ระยะแฝงเชื้อ” เป็นระยะที่เริ่มขึ้นหลังจากอาการของระยะที่หนึ่งและระยะที่สอง ดังนั้นวิธีที่ดีสุดในการป้องกัน คือ การตรวจหาเชื้อซิฟิลิสอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ไม่ว่าคุณจะมีความเสี่ยงหรือไม่มีความเสี่ยงก็ตาม หากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ก็ควรได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกเดือน แต่หากคุณไม่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย แนะนำให้ตรวจเลือดทุกๆ 6 เดือนถึง 1 ปี อย่างต่อเนื่อง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ อาการของโรคอาจจะลุกลามทั่วร่างกาย ทำให้เดินขาถ่าง ระบบการขับถ่ายรวนและไม่สามารถควบคุมได้ ในบางรายที่มีอาการหนักมาก อาจถึงขั้นหูหนวก ตาบอด และยังส่งผลเสียต่ออวัยวะสำคัญ ๆ ในร่างกาย จนอาจเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ โรคซิฟิลิส สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด เพราะเป็นโรคที่สามารถติดจากแม่สู่ลูก หากไม่ทำการรักษาจะส่งผลให้ลูกที่เกิดมาพิการอีกด้วย
ป้องกันซิฟิลิสอย่างไร
หากคุณมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย ให้ลองสังเกตตัวเองว่า มีแผล บวม หรือตุ่มพองที่บริเวณอวัยวะเพศ ช่องทวารหนัก หรือที่ปากหรือไม่ อาจมีอาการแสบ เจ็บเมื่อปัสสาวะ มีหนองไหลจากอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก รู้สึกคันหรือเจ็บหรือไม่ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที หรือหากยังไม่แน่ใจสามารถโทร 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม เพื่อขอคำแนะนำได้เช่นกัน
- ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ควรสวมถุงยางอนามัย รวมถึงการทำออรัลเซ็กส์ด้วยเช่นกัน
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และควรแนะนำให้คู่นอนตรวจเลือดด้วยเพื่อป้องกันโรคจากทั้งคู่
- หมั่นตรวจเช็คสุขภาพ ตรวจคัดกรองไวรัสเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- หากรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยาทานเอง หรือปล่อยทิ้งไว้
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังมีอีกหลายโรค ไม่ได้มีแค่ โรคซิฟิลิสเท่านั้น ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบใดก็ควรป้องกันตัวเองด้วยถุงยางอนามัย นอกจากนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการใดแสดงออกมาให้เห็นชัดเจน ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรหมั่นตรวจสุขภาพตัวเองเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ในอนาคต