ซิฟิลิส รู้ทัน ป้องกันได้

มิถุนายน 13, 2022
Written By HIV Team

ซิฟิลิสในปัจจุบัน  พบมากที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นช่วงมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย  อายุระหว่าง 15-24 ปี   เนื่องจากเป็นวัยเจริญพันธุ์ มีเพศสัมพันธ์เร็ว และยังขาดความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา บางคนอาจคิดว่าตนไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงเนื่องจากไม่ได้เปลี่ยนคู่นอนบ่อย จึงไม่ใช้ถุงยางอนามัย แต่ในความเป็นจริง การมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบโดยไม่สวมถุงยางอนามัย ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ทั้งสิ้น

ซิฟิลิสคืออะไร ?

ซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) จากการสัมผัสถูกเชื้อโดยตรงจากแผลของผู้ป่วย โดยเฉพาะในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่มักสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อได้มากที่สุด จึงมักถูกจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้การใช้เข็มฉีดยารวมกับผู้อื่น การรับเลือดจากผู้อื่น รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อสามารถส่งผ่านเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้เช่นกัน

การวินิจฉัยซิฟิลิส

แพทย์จะสอบถามข้อมูลทั่วไป เช่น อาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วย พฤติกรรมด้านเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการตรวจร่างกายในเบื้องต้น ซึ่งแพทย์หรือพยาบาลจะตรวจดูบริเวณอวัยวะเพศหรือส่วนอื่นของร่างกายว่าพบแผลหรือความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเกิดจากโรคซิฟิลิส ก่อนจะสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นเพิ่มเติม ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มักใช้ในการวินิจฉัย ได้แก่

Love2test
  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจหาเชื้อที่อยู่ในกระแสเลือดของผู้ป่วย โดยในบางรายที่ผลการตรวจออกมาว่ามีการติดเชื้อ อาจต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากการตรวจครั้งแรก เพื่อช่วยยืนยันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสขึ้น  
  • การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swab Test) ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลหรือผื่นตามร่างกาย แพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างเชื้อบนผิวหนังหรือน้ำเหลืองจากแผลไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หาเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสหรือไม่

อาการของซิฟิลิส

หลังจากเราได้รับเชื้อซิฟิลิสแล้ว เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-4 สัปดาห์ และอาจนานจนถึง 3 เดือน ก่อนที่เราจะเริ่มมีอาการแสดงของการติดเชื้อซิฟิลิส อาการของโรคซิฟิลิส จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1

  • หลังจากได้รับเชื้อไปประมาณ 3 สัปดาห์ ในผู้ชายจะเริ่มมีแผลริมแข็ง (Chancre) บริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ไม่เจ็บ ในผู้หญิง แผลอาจจะซ่อนอยู่ในช่องคลอด และในบางคนจะพบแผลบริเวณทวารหนักได้ ผู้ป่วยหลายรายไม่ทราบว่าเคยมีแผลลักษณะนี้มาก่อน เนื่องจากแผลจะสามารถหายได้เองในระยะเวลาไม่นาน แต่เชื้อซิฟิลิส จะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและก่อเกิดโรคซิฟิลิส ในระยะต่อไป

ระยะที่ 2

  • หลังจากแผลริมแข็งหายไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะเกิดอาการของโรคซิฟิลิส ในระยะที่ 2 โดยเชื้อซิฟิลิสได้เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้วเข้าไปในกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการทางร่างกายอื่นๆ ได้แก่ ไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ มีผื่น ซึ่งมักจะพบบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า สามารถพบผื่นบริวเณแขนขาและลำตัวได้เช่นกัน โดยจะไม่มีอาการคันในบริเวณผื่น ผื่นอาจจะหายได้เองจะเกิดเป็นซ้ำอีก

ระยะแฝง

  • ระยะนี้เป็นระยะที่ไม่มีอาการใดๆ ซึ่งกินระยะเวลานานได้เป็นปี โดยเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยเป็นซิฟิลิส ระยะที่ 2 แล้วไม่ได้รับการรักษา โดยส่วนใหญ่จะตรวจพบขณะมาตรวจเลือด เช่น มารดาตรวจพบขณะฝากครรภ์ หรือการตรวจสุขภาพที่ระบุการตรวจเชื้อซิฟิลิส เป็นต้น

ระยะที่ 3

  • ระยะนี้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยอาจมีอาการ ตาบอด หูหนวก มีอาการพิการทางสมอง มีโรคหัวใจ เส้นเลือด ตับ กระดูก และข้อต่อต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อนานหลายปีโดยไม่ได้รับการรักษา

การป้องกันซิฟิลิส

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนการมีเพศสัมพันธ์
  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ข็มฉีดยาร่วมกันผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นซิฟิลิส
  • หมั่นตรวจคัดกรองซิฟิลิสเป็นประจำ

การรักษาซิฟิลิส

ซิฟิลิส เป็นโรคที่สามารถรักษาได้หายขาด ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในระยะต้นๆ โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อซิฟิลิส และแพทย์จะแนะนำให้พาคู่นอนเข้ามารับการตรวจ และรักษาร่วมด้วย ดังนั้น หากท่านกังวลว่ามีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อซิฟิลิส ท่านควรเข้ารับการตรวจ แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม การตรวจพบโรคซิฟิลิส ตั้งแต่ระยะต้นๆ ท่านจะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และหยุดการลุกลามของโรคได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : ch9airport ,samitivejhospitals ,pobpad

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

แชร์และบอกต่อ