ไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบนี้อยู่ในร่างกาย เนื่องจากอาการของโรคไม่รุนแรง ไม่ชัดเจน ต่อเมื่อมีอาการตับอักเสบมากขึ้น ถ้าปล่อยไว้โดนไม่ทำการรักษาก็จะกลายเป็นตับแข็ง และในที่สุดก็จะกลายเป็นมะเร็งตับได้
เนื้อหาสำคัญ
ไวรัสตับอักเสบซี คืออะไร ?
ไวรัสตับอักเสบซี คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดซี (HCV) ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเฉียบพลันเป็นภาวะเจ็บป่วยระยะสั้นที่เกิดขึ้นประมาณ 6 เดือนหลังจากที่ผู้นั้นสัมผัสเชื้อไวรัสตับอักเสบซีครั้งแรก โดยปกติการติดเชื้อแบบเฉียบพลันจะไม่กลายเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรังเสมอไป และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรังเป็นภาวะเจ็บป่วยระยะยาวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยังคงมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายของผู้นั้น ภาวะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถคงอยู่ได้ตลอดชีวิตและนำไปสู่สภาวะที่ เป็นอันตรายต่อตับรวมถึงภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับในที่สุด ซึ่งสามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์คล้ายกับ ไวรัสตับอักเสบบี
ไวรัสตับอักเสบซี ติดต่อทางไหน ?
- จากการรับเลือดที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ที่ติดยาเสพติด
- การติดต่อจากมารดาไปสู่ทารก พบได้น้อยมาก
- การใช้แปรงสีฟัน กรรไกร หรือที่ตัดเล็บร่วมกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
ไวรัสตับอักเสบซี ไม่ติดต่อผ่านการรับประทานอาหารร่วมกัน การใช้จามชามช้อนส้อมด้วยกัน การให้นมบุตร การกอด หรือการจูบ ร่วมถึงไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส หรือไอ จาม รดกัน
อาการของไวรัสตับอักเสบซี
- โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสจะมีอาการคล้ายๆ กัน คือ ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง บวม มีน้ำในช่องท้อง ปวดชายโครงขวา ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ ตับม้ามโต
- การที่จะแยกว่าเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใดนั้น ต้องใช้วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะทราบ แต่ที่น่าสังเกตคือโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดอื่นๆ มักจะเป็นแบบเฉียบพลัน และจะหายได้ภายในเวลา 6 เดือน ถ้าหากมีอาการของโรคตับอักเสบเรื้อรังก็มักจะเกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี
- โดยทั่วไปผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่หลังติดเชื้อแล้วภายในเวลา 10 ปีแรกจะไม่มีอาการอะไรเลย ยกเว้นส่วนน้อยที่อาจมีอาการของโรคแบบเฉียบพลัน ต่อเมื่อย่างเข้าสู่ 10 ปีที่ 2 ก็จะเริ่มมีอาการของตับอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้น และเมื่อ 30 ปีผ่านไป ตับจะถูกทำลายมากขึ้น ก็จะเริ่มมีอาการของตับแข็งปรากฏให้เห็น
- ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็จะเป็นมะเร็งตับ เรียกว่ากว่าจะแสดงอาการก็ใช้เวลาหลายสิบปี โดยที่โรคจะดำเนินไปอย่างช้าๆ ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวเลยว่ามีโรคอันตรายซ่อนแฝงอยู่ถ้าไม่ได้ตรวจเลือด และไม่ได้รับการรักษาก็จะกลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด
ใครบ้างที่ควรตรวจ ไวรัสตับอักเสบซี
- ผู้ที่เคยได้รับเลือดและสารเลือดก่อนปี พ.ศ.2535
- ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะก่อนปี พ.ศ.2535
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ผู้ที่มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี
- บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มตำจากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี
- การใช้ของส่วนตัวที่เปื้อนเลือดร่วมกัน เช่น มีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บ
วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- อย่าใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด
- ห้ามใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน
- ให้ระมัดระวังในการเจาะหูหรือสักตามร่างกาย หากเลือกแล้วที่จะทำ ก็ควรเลือกร้านที่ไว้ใจได้ มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์อย่างถูกหลักอนามัย โดยเฉพาะเข็มที่ใช้ต้องผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
การรักษาไวรัสตับอักเสบซี
ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี
- ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 1 ต้องรักษาเป็นเวลา 1 ปี ระหว่างการรักษา 1 และ 3 เดือน ควรตรวจนับปริมาณไวรัสซ้ำเพื่อดูการตอบสนองและวางแผนการรักษาว่าจะหยุดยารักษาที่ 1 ปีหรือนานกว่านั้น หรือบางกรณีถ้ามีภาวะแทรกซ้อนมาก ในกรณีที่ตรวจไม่พบเชื้อตั้งแต่เดือนแรกและทนยาไม่ได้ก็อาจจะร่นเวลาการรักษาลงมาอีก ผู้ป่วยเมื่อได้ยาครบ 1 ปี ก็ต้องตรวจเชื้อว่ายังมีหลงเหลือหรือไม่ หลังเสร็จสิ้นการรักษาไปอีก 6 เดือน ถ้าตรวจไม่พบเชื้อในเลือดด้วยวิธี RT-PCR ก็บ่งว่าโรคหายและโอกาสกลับมาเป็นใหม่ค่อนข้างน้อย
- ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 2 และ 3 ให้การรักษาเป็นเวลา 6 เดือน หากการรักษาครบจะตรวจเชื้อซ้ำว่ามีเชื้อหลงเหลือหรือไม่ จากนั้นจะติดตามตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้งตอน 6 เดือนหลังหยุดยา ถ้าหายตอนนี้ก็เรียกว่าโรคหาย โอกาสกลับเป็นซ้ำนั้นค่อนข้างน้อย
- ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 4, 5 และ 6 นั้นพบน้อยในประเทศไทย แนะนำให้รักษาเป็นเวลา 1 ปี
ข้อห้ามของการรักษาโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสซี
- อายุต่ำกว่า 2 ปี
- มีประวัติแพ้ยาฉีดและยารับประทานที่ใช้ในการรักษา
- มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงที่ยังควบคุมไม่ได้
- ตั้งครรภ์ หรือไม่เต็มใจที่จะยินยอมในการคุมกำเนิด
- ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ (ไต หัวใจ หรือปอด)
- มีโรคที่อาจจะแย่ลงถ้าได้รับยาฉีด โดยเฉพาะโรคภูมิต้านทานทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง (autoimmune diseases)
- มีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมการรักษาไม่ได้ดี เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือด ถุงลมโป่งพอง โรคไทรอยด์
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังที่สมควรได้รับการรักษา
- อายุ 18 ปีขึ้นไป
- พบเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในกระแสเลือด
- ผลการเจาะตับพบว่ามีพังผืดในตับมาก (Metavir มากกว่าหรือเท่ากับ 2) ในกรณีที่เป็นไวรัสตับอักเสบซีชนิด 1,4, 6
- เป็นโรคตับแข็งในระยะเริ่มต้น หรือมีคะแนนการทำงานของตับ (Child-Pugh score) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 9
- มีความเข้าใจและพร้อมที่จะรับการรักษา
- ไม่มีข้อห้ามของการรักษา
ยาสำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
ยาที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์และเป็นมาตรฐานการรักษาในปัจจุบัน คือ ยาฉีด Pegylated interferon สัปดาห์ละ 1 ครั้งร่วมกับการรับประทานยา Ribavirin ทุกวัน โดยได้รับยาต่อเนื่องเป็นเวลา 24 – 48 สัปดาห์ อัตราการตอบสนองอาจสูงถึงร้อยละ 90 ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสที่เป็น
ดูแลรักษาตัวเองอย่างไร ? ระหว่างเป็นไวรัสตับอักเสบซี
- สามารถออกกำลังกายได้ปกติ แต่ไม่ควรหักโหมในช่วงที่มีอาการตับอักเสบเฉียบพลัน
- ควรพักผ่อนให้พอเพียง
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวได้มากขึ้น และทำให้เซลล์ตับเสื่อมเร็วขึ้น
- การรับประทานยาทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์
- การพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจเลือดดูการทำงานของตับเป็นระยะๆ (ทุก 3-6 เดือน)
- การมีเพศสัมพันธ์ควรสวมถุงยางอนามัย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง
- เมื่อมีการผ่าตัดหรือทำฟัน ควรแจ้งแพทย์ทราบเสมอ
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- งดการบริจาคโลหิต
- หลีกเลี่ยงการใช้แปรงสีฟันและของมีคมร่วมกับผู้อื่น