เอชไอวีเป็นเชื้อที่มีความร้ายแรง และน่ากลัวเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีการไหน หรือยาตัวไหนที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ทั้งยังในปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นผลให้คนส่วนใหญ่มักจะมีความเข้าใจ การติดเชื้อเอไอวีนั้น สามารถติดต่อกันได้โดยง่าย จนทำให้คนหลายคนมีความกังวล เมื่อต้องอยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี การทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี สามารถติดต่อได้ผ่านทางใดได้บ้าง เพื่อการปฏิบัติตนเอง และสามารถอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
เนื้อหาสำคัญ
เอชไอวี (HIV)
เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเอดส์ (AIDS) คือ ระยะท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคแทรกซ้อนได้ เชื้อเอชไอวีจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อของโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
เชื้อเอชไอวี ติดต่อกันได้อย่างไร ?
เชื้อไวรัสเอชไอวีนั้นจะอาศัยอยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ได้แก่ เลือด น้ำนม อสุจิ น้ำหล่อลื่นจากอวัยวะเพศชาย รวมถึงของเหลวในช่องคลอด และทวารหนัก คนทั่วไปติดเชื้อเอชไอวีได้ หากสารคัดหลั่งเหล่านี้สัมผัสกับผิวหนังที่มีบาดแผล หรือบริเวณเยื่อเมือกบุผิวภายในทวารหนัก ช่องคลอด องคชาติของเพศชาย และในช่องปาก
โดยมีสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีดังนี้
สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
- การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือทวารหนักกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัยป้องกัน หรือรับประทานยาต้านเชื้อเอชไอวี การร่วมเพศทางทวารหนักกับผู้ติดเชื้อโดยเป็นฝ่ายรับจะมีความเสี่ยงสูงสุด แต่ฝ่ายรุกก็ติดเชื้อได้เช่นกัน ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดนั้น มีโอกาสติดเชื้อได้ทั้งฝ่ายรับ และฝ่ายรุกไม่ต่างกัน ทั้งนี้ ฝ่ายรับที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักจะเสี่ยงมากกว่าฝ่ายรับที่มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด
ถ้าไม่มีการป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นทั้งชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือชายกับหญิงก็ตาม จะเป็นช่องทางธรรมชาติ หรือไม่ธรรมชาติ ก็มีโอกาสเสี่ยง ต่อการติดเชื้อ ได้ทั้งนั้น เพราะส่วนใหญ่แล้ว 80% ผู้ป่วยโรคเอดส์ จะรับเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์
- การใช้เข็มฉีดยา หรืออุปกรณ์เตรียมฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากเชื้อเอชไอวีสามารถอยู่ในเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วได้นานถึง 42 วัน หากมีอุณหภูมิและปัจจัยอื่น ๆ ที่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่จะพบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้เสพยาแบบฉีดยาเข้าเส้น
สาเหตุที่อาจพบได้บ้าง ได้แก่
- การที่แม่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายมี โอกาสสูงมากที่จะแพร่เชื้อ และถ่ายทอดเชื้อ ไปสู่ลูกในขณะตั้งครรภ์ ระหว่างการคลอด หลังคลอด หรือผ่านการให้นมบุตร โดยจะมีความเสี่ยงสูง หากแม่ไม่ได้รับประทานยา สำหรับรักษา หรือยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี หากมีครรภ์แล้วควรปรึกษาคุณหมอ และอยู่ในความดูแลของคุณหมอ โดยที่คุณก็จะสามารถตั้งครรภ์ ได้อย่างปลอดภัยทั้งแม่ และลูก เพราะปัจจุบันนี้ทางการแพทย์ได้พัฒนาไปไกลจนได้มีวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก ด้วยการทานยาต้านไวรัสเอชไอวี ในระหว่างการตั้งครรภ์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพียงร้อยละ 8%
- ผู้ที่ทำงานกับอุปกรณ์ที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสเอชไอวี เช่น เข็มฉีดยา หรือของมีคม
สาเหตุที่พบได้น้อยมาก ได้แก่
- การมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางปาก (oral sex) เป็นความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ หากว่าฝ่ายชายมีการหลั่งน้ำอสุจิที่อาจมีเชื้อเอชไอวีปะปนมา เข้าไปภายในช่องปากของคู่นอน ขณะที่มีการทำ oral sex ซึ่งหากฝ่าย ที่ใช้ปากมีบาดแผลอยู่ภายในปาก ก็จะทำให้ได้รับความเสี่ยงนี้
- การปลูกถ่ายอวัยวะหรือการบริจาคเลือด ปัจจุบันต้องมีการคัดกรองผู้บริจาคเลือด หรือผู้ที่บริจาคอวัยวะอย่างเข้มงวดมากขึ้น ก่อนที่จะนำมาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วย โดยทำการตรวจสอบหาเชื้อเอชไอวีอีกครั้งทุกครั้งก่อนนำไปใช้ เพื่อให้แน่ใจในความปลอดภัย และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้
- การรับประทานอาหารที่ผ่านการเคี้ยวจากผู้ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากจะเกิดการปนเปื้อนเชื้อได้หากมีเลือดของผู้ป่วยอยู้ในอาหาร แต่หากผู้ป่วยไม่มีเลือดออกในปากขณะเคี้ยวก็รับประทานอาหารต่อจากผู้ป่วยได้ โดยการติดเชื้อลักษณะนี้พบในทารกเท่านั้น ถึงแม้ความเสี่ยงนี้จะต่ำ แต่ก็ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงจะดีที่สุด
- การถูกกัดโดยผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่ต้องเป็นการกัดที่รุนแรงจนมีเลือดไหล หรือเกิดแผลฉีกขาดที่ผิวหนังเท่านั้น
- การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะเชื้อไวรัสเอชไอวี ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในสารคัดหลั่ง ซึ่งสามารถเข้าทางบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผล หรือเยื่อเมือกภายในช่องปาก
- การจูบแบบเปิดปาก หากว่าทั้งสองฝ่ายมีบาดแผลภายในช่องปาก หรืออาจจะมีเลือดออกตามไรฟัน โดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเชื้อเอชไอวี อีกฝ่ายอาจทำให้อีกฝ่ายติดเชื้อเอชไอวีได้ ถึงแม้เชื้อเอชไอวีนั้นไม่ติดต่อกันผ่านทางน้ำลายก็ตาม
- การสักหรือการเจาะตามร่างกายอาจส่งผลให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ หากได้มีการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด โดยการใช้เข็มสักหรือมีการเจาะร่วมกัน ซึ่งรวมไปถึงการใช้หมึกในการสักร่วมกับผู้อื่น หากต้องการสักหรือเจาะร่างกาย ควรสังเกต หรือเลือกร้านที่มีการทำความสะอาด และสุขอนามัยของร้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเข็มสัก หมึกที่ใช้ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ทั้งยังควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าร้านดังกล่าวมีใบรับรองจากหน่วยงานสาธารณสุข
- การกัด การเกา หรือการบ้วนน้ำลาย ปกติแล้วผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่อาจแพร่เชื้อผ่านการกัด หรือการบ้วนน้ำลายได้ เนื่องจากในน้ำลายไม่มีเชื้อเอชไอวี ทว่าหากผู้ป่วยมีแผลในปาก หรือมีเลือดออกตามไรฟัน และกัดผู้อื่นจนผิวหนังฉีกขาด อาจทำให้บุคคลดังกล่าวเสี่ยงติดเชื้อได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก
ส่วนการเกาผิวหนังนั้นไม่ส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นเช่นกัน หากไม่ได้เกาอย่างรุนแรงจนเกิดบาดแผลมีเลือดออกหรือทำให้สารคัดหลั่งของผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกาย ทางที่ดีผู้ป่วยและผู้ดูแลควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันการสัมผัสโดนเลือดของผู้ติดเชื้อโดยไม่ตั้งใจ
พฤติกรรมที่ไม่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวี
- การกอด การจับมือ หรือการจูบแบบปิดปากกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- การใช้ห้องน้ำ หรือจานชามร่วมกับผู้ติดเชื้อเอสไอวี
- การสัมผัสกับเหงื่อ น้ำตา หรือน้ำลาย ที่ไม่มีเลือดของผู้ติดเชื้อเอชไอวีปนเปื้อนอยู่
- การถูกยุง หรือแมลงที่ดูดเลือดจากผู้ติดเชื้อเอชไอวี แล้วมากัดหรือต่อยเรา
- การหายใจร่วมกัน
เอชไอวี ป้องกันได้หากระมัดระวัง
การติดเชื้อเอชไอวีไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด จึงควรป้องกันโดยเอาใจใส่พฤติกรรมทางเพศของตนให้ปลอดภัยมากขึ้น เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ รวมทั้งรักษาสุขอนามัยโดยหลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และควรไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสเอชไอวี หากเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อติดเชื้อเอชไอวี
ส่วนผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้วนั้น ควรรับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ และตรงเวลา เพราะนอกจากจะช่วยให้มีสุขภาพดี และมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังคู่นอนได้อีกด้วย
บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :
- เอดส์ ติดต่อได้อย่างไร เรื่องควรรู้เพื่อการป้องกันอย่างถูกวิธี https://www.pobpad.com/เอดส์-ติดต่อได้อย่างไร-เ
- โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร https://www.thaimedicalplus.com/โรคเอดส์ติดต่ออย่างไร/
- โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร เรียนรู้ให้เข้าใจ และป้องกันอย่างถูกวิธี https://www.thaihivtest.com/โรคเอดส์ติดต่ออย่างไร/