เนื้อหาสำคัญ
โรคเริม (Herpes simplex)
เริม เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus) หรือ HSV โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะของตุ่มน้ำขึ้นบนผิวหนังได้คล้ายกับลักษณะของคนที่เป็นงูสวัด และอีสุกอีใส ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ติดเชื้อเริมส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการของโรคในช่วงแรกของการเป็น และอาจมีการกำเริบกลับมาเป็นซ้ำได้อีกสำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อเวลาผ่านไประยะฝังตัวของโรคจะกินเวลานานขึ้น โดยจะมีความรุนแรงของอาการน้อยลง และหายเร็วกว่าในครั้งแรก เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ และเชื้อนั้นเข้าไปอยู่ในชั้นของผิวหนัง เชื้อจะทำการแบ่งตัว ทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมเป็นตุ่มน้ำ และเกิดการอักเสบ
สาเหตุการเกิด :
โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเชื้อไวรัสตระกูล Herpes Simplex Virus มี 2 ชนิด ได้แก่
- Herpes simplex virus-1 (HSV-1)
ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณปาก สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การโดนแผล ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน การรับประทานอาหารร่วมกัน การจูบ การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
เชื้อตัวนี้ก่อให้เกิดโรคบริเวณปาก ริมฝีปาก ใบหน้า ช่องปาก ถ้าหากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้
- Herpes simplex virus-2 (HSV-2)
ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศทั้งหญิงและชาย เช่น ถุงอัณฑะ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเป็นการสัมผัสกับเชื้อไวรัสโดยตรง
หลายท่านที่เคยเป็นโรคเริม หรือมีอาการใกล้เคียงกับลักษณะที่ได้กล่าวมา อาจสงสัยว่าทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ก็ระมัดระวังดีแล้วแต่ทำไมยังเกิดโรคเริมกับตัวเองได้ หรือทำการตรวจ HIV เพียงอย่างเดียวไม่ได้รู้ว่ามีโรคเริมอยู่ โดยสาเหตุหลักของโรคเริมเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือทางทวารหนักโดยไม่มีการป้องกัน หรือ การใช้ปากในการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเม็ดตุ่มใสที่บริเวณปาก หรือ การใช้อุปกรณ์เพื่อกิจกรรมทางเพศร่วมกัน และอีกหนึ่งสาเหตุที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเริม คือ การสัมผัสอวัยวะเพศกับผู้ที่ติดเชื้อโรคเริม โดยบ่อยครั้งมักจะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคเริมที่ไม่แสดงอาการ
อาการของโรค :
ความรุนแรงของโรคเริมไม่ได้อยู่ที่อาการ แต่มีความอันตรายเพราะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้ว่าผู้ป่วยที่เคยมีอาการของโรคเริมจะได้รับการรักษาจนดีขึ้นแล้ว แต่เชื้อไวรัสเริมจะยังคงก่อตัวสะสมในปมเส้นประสาท และหากมีปัจจัยกระตุ้นเชื้อเริมจะเคลื่อนตัวตามเส้นประสาทไปจนถึงปลายประสาททำให้เกิดโรคเริมกำเริบขึ้นอีกได้ ปัจจัยที่กระตุ้น ได้แก่ ความเครียด การที่ภูมิต้านทานในร่างกายต่ำลง การพักผ่อนไม่เพียงพอ การมีประจำเดือน การติดเชื้อไวรัส และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เป็นต้น
วิธีการรักษา :
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคเริมให้หายขาดได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ โดยคำแนะนำที่ดีที่สุด คือ การลด ละ เลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกันโอกาสได้รับเชื้อเริมที่แพร่กระจายมาจากผู้อื่น ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หมั่นทำความสะอาดร่างกายทั้งก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ เพียงเท่านี้คุณเองก็สามารถป้องกันตัวเองได้ แต่หากเราพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคเริม หรือ พบเจอการเริ่มต้นลักษณะใกล้เคียงกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเริมควรรีบทำการตรวจและรักษาโดยเร็วที่สุด โดยหนึ่งในช่องทางที่สะดวกสบาย เข้าถึงง่าย และไม่ต้องกังวลกับการเขินอายในการเข้ารับการตรวจ คือ การติดต่อมูลนิธิเพื่อรัก มูลนิธิที่ร่วมรณรงค์เรื่องการเรียนรู้และการเข้าใจด้านสุขอนามัยทางเพศที่ถูกต้อง โดยสามารถติดต่อขอคำแนะนำเพื่อปรึกษาลักษณะอาการที่เป็นอยู่ผ่านช่องทาง Line, Email รวมไปถึงการจองคิวเข้าตรวจอาการฟรี ได้ที่ www.love2test.org