โรคฝีดาษลิง เกิดจาก เชื้อไวรัส Monkeypox ซึ่งเป็นไวรัสที่มีความใกล้เคียงกับโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ พบครั้งแรกเมื่อปี 2501 ในห้องแลปที่ประเทศเดนมาร์ก จากลิงที่ใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการพบในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อปี 2513 ที่ประเทศคองโก ทวีปแอฟริกา ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ระบาดคือทางแถบแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากคือไนจีเรีย เมื่อปี 2546 พบผู้ป่วยเป็นโรคฝีดาษลิงมีความสัมพันธ์กับสัตว์คือ แพรีด็อก ซึ่งซื้อมาจากร้านขายสัตว์เลี้ยง โดยมีการสัมผัสใกล้ชิดแล้วโดนกัด จากการสืบสวนโรคพบว่ามีการเลี้ยงแพรีด็อกอยู่ในกรงใกล้ๆ กับสัตว์ฟันแทะที่นำเข้ามาจากจากประเทศกาน่า ซึ่งสัตว์อาจจะมีพาหะอยู่แต่ไม่ได้แสดงอาการชัดเจน
เนื้อหาสำคัญ
อาการโรคฝีดาษลิง
อาการเริ่มแรกจะ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วันจะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขาและอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนองในระยะสุดท้าย ตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10
การติดต่อโรคฝีดาษลิง
การติดต่อจากสัตว์สู่คน
- สัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง
- ตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ
- ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดหรือข่วน
- กินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ
การติดต่อจากคนสู่คน
- สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทางสารคัดหลั่งทางเดินหายใจจากผิวหนังที่เป็นตุ่ม
- มีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายจากโรคเองได้
โรคฝีดาษลิงป้องกันได้อย่างไร ?
- ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโรค ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ เช่น สัตว์ฟันแทะ ลิง หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง
- ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดต่อ โดยการ ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารปรุงสุก
- ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ แม้มีการพิจารณานำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษมาใช้ในผู้ป่วยหลังสัมผัสโรคที่มีความเสี่ยงสูง แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการใช้วัคซีนป้องกันฝีดาษเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิงสำหรับบุคคลทั่วไป
โรคฝีดาษลิงรักษาได้หรือไม่ ?
การรักษาฝีดาษลิง ในขณะนี้ใช้การรักษาประคับประคองตามอาการ ยังไม่มียามาตรฐานที่ใช้รักษาอย่างจำเพาะเจาะจง อย่างไรก็ตามมีการพิจารณานำยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคฝีดาษมาใช้รักษาโรคฝีดาษลิงในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีอาการหนัก ซึ่งอาจต้องรอการศึกษาและพัฒนาการรักษาที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก : pptvhd36 ,chula ,synphaet