หูดหงอนไก่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย เกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus : HPV) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก ไวรัสชนิดนี้ถูกค้นพบมากกว่าร้อยสายพันธุ์ กว่า 40 สายพันธุ์ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แบ่งเป็น 2 ชนิด
- ความเสี่ยงสูง ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง ได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 41-45, 51, 52, 56, 59
- ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งไม่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11, 42, 43, 44
เนื้อหาสำคัญ
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อหูดหงอนไก่
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
- ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ลักษณะและอาการของหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่ จะมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อสีชมพูหรือขาว ผิวขรุขระเป็นหยักคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ ตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ รอบปากช่องคลอด ใต้หนังหุ้มปลายองคชาติ และบริเวณลำองคชาติที่ขลิบแล้ว อาจพบได้หลายตำแหน่งพร้อมๆ กัน รวมทั้งในตำแหน่งอื่นๆ เช่น ปากมดลูก ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ฝีเย็บ รอบทวารหนัก รูทวารหนัก และอัณฑะ โดยส่วนใหญ่แล้วหูดหงอนไก่จะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือระคายเคือง เว้นแต่ในบางกรณีหูดหงอนไก่อาจสร้างความเจ็บปวดจนทำให้ต้องทำการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ หูดหงอนไก่จะสามารถขยายจำนวนได้ โดยได้รับการกระตุ้นจากความร้อน ความชื้น
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่ เบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจบริเวณที่สงสัยว่าอาจเป็นหูดหงอนไก่ เช่น รอบปากช่องคลอด ใต้หนังหุ้มปลายองคชาติ ปากมดลูก ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ฝีเย็บ รอบทวารหนัก รูทวารหนัก อัณฑะ จากนั้นอาจใช้กรดอะซิติกเจือจางช่วยทำให้หูดมีสีซีดลง และเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วจึงนำกล้องหรือแว่นขยายมาส่องเพื่อดูลักษณะของหูดที่เกิดขึ้น
แพทย์อาจมีการสั่งตรวจ แปปสเมียร์ ซึ่งจะเก็บตัวอย่างเซลล์ที่บริเวณปากมดลูก หรือบริเวณทวารหนักไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อเอชพีวี และความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง
การรักษาหูดหงอนไก่
การรักษาหูดหงอนไก่ ทำได้หลายวิธี ทั้งการใช้ยา การผ่าตัด การจี้เย็น จี้ร้อนด้วยไฟฟ้า ทำเลเซอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่มีโอกาสเกิดซ้ำขึ้นได้ โดยทั่วไปหูดที่มีขนาดเล็กกว่า ย่อมจัดการได้ง่ายกว่า โรคหูดหงอนไก่เมื่อเคยเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นได้อีกถึงร้อยละ 70 สาเหตุที่กลับมาเป็นซ้ำจะเกิดจากการติดเชื้อซ้ำจากคู่นอน ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้พาคู่นอนมาตรวจและรักษาไปพร้อมๆกัน
การป้องกันหูดหงอนไก่
วิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันหูดหงอนไก่ ก็คือ การป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชพีวีเข้าสู่ร่างกาย ด้วยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ นอกจากนี้การฉีดวัคซีน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ได้ถึง 90% สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%
ขอบคุณข้อมูล : paolohospital, pobpad
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม
การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ ไวรัสเอชพีวี มีประสิทธิภาพในการป้องกันหูดหงอนไก่ ได้ถึง 90% และป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%