เอชพีวี (HPV) เกิดจากเชื้อฮิวแมน ปาปิลโลมา ไวรัส (Human Papilloma Virus : HPV) มีสายพันธุ์มากกว่า 100 สายพันธุ์ สามารถพบได้ทุกช่วงวัยทั้งชายและหญิง เชื้อเอชพีวี (HPV) แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- สายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ ก่อนโรคหูดหงอนไก่ เช่น สายพันธุ์ 6 และ 11
- สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมาก เช่น สายพันธุ์ 16 และ 18 ทำให้เกิดมะเร็ง
เนื้อหาสำคัญ
อาการของเอชพีวี (HPV)
ผู้ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ก่อนที่จะเกิดหูดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มี “หูด” ขึ้นอาจมีลักษณะของหูดที่ปรากฏแตกต่างกันตามสายพันธุ์ของไวรัส ดังนี้
- หูดชนิดทั่วไป มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่สัมผัสแล้วรู้สึกขรุขระ อาจมีสีเนื้อ สีขาว สีชมพู หรือสีน้ำตาลอ่อน มักขึ้นตามมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจสร้างความเจ็บปวดได้ในบางครั้ง
- หูดชนิดแบนราบ มีขนาดเล็ก พื้นผิวเรียบ สีของหูดเข้มกว่าสีผิวปกติและนูนขึ้นมาจากผิวหนังเล็กน้อย เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย หากเป็นเด็กมักพบตามใบหน้า ในผู้หญิงมักเกิดบริเวณขา ส่วนผู้ชายจะพบได้บ่อยบริเวณเครา
- หูดฝ่าเท้า มีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง สัมผัสแล้วรู้สึกหยาบ มักขึ้นบริเวณส้นเท้าหรือเนินปลายเท้า และทำให้รู้สึกเจ็บในระหว่างยืนหรือเดิน
- หูดอวัยวะเพศ หรือเรียกว่า หูดหงอนไก่ เป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกคัน
การติดเชื้อ HPV ที่บริเวณปากมดลูก จากการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิด มะเร็งปากมดลูก ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปรากฏเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปแล้ว ทางที่ดีจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ เพื่อให้สามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
เอชพีวี (HPV) ติดต่อกันได้อย่างไร ?
เอชพีวี (HPV) สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางสารคัดหลั่งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ป้องกันทางช่องคลอด ทางปาก และทวารหนัก หรืออาจแพร่กระจายผ่านทางรอยถลอกหรือแผลเปิดบนผิวหนัง รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น กางเกงชั้นใน ผ้าขนหนู เซ็กทอยส์
การป้องกันเอชพีวี (HPV)
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV
- ตรวจคัดกรอง HPV เป็นประจำทุกปี
เอชพีวี (HPV) รักษาได้อย่างไร ?
ปัจจุบันการติดเชื้อ HPV ไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อย ๆ กำจัดเชื้อออกไปเอง ส่วนการรักษาความผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น มะเร็งหรือหูด จะมีวิธีการแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการที่พบ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือฉายรังสี ซึ่งการตรวจพบและเข้ารับการรักษาตั้งแต่ในขณะที่มะเร็งยังไม่ลุกลามจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงขึ้น
ส่วนผู้ป่วยที่มีหูดขึ้น แพทย์มักแนะนำให้ใช้ยา
- กรดซาลิไซลิก
- ยาโพโดฟิลอก
- ยาอิมิควิโมด
- กรดไตรคลอโรอะซีติค
ขอบคุณข้อมูล : pobpad
อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การป้องกัน HPV สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน HPV ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันได้โดยการใช้ถุงยางอนามัยในทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ แต่หากคุณมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม