“เริมที่ปาก” เกิดจากเชื้อไวรัส (Herpes simplex virus : HSV) เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย มีลักษณะเป็นตุ่มใสเล็ก ๆ มักขึ้นบริเวณริมฝีปาก ใครเป็นก็จะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน บางคนถึงขนาดมีไข้ร่วมด้วย เริมที่ปากสามารถหายได้เอง แต่มักกำเริบซ้ำและเป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมักมีอาการกำเริบได้บ่อย
เนื้อหาสำคัญ
อาการ เริมที่ปาก
- เป็นแผลบวมแดง
- มีตุ่มพองมีน้ำใส ๆ
- รู้สึกคัน ขึ้นบริเวณริมฝีปาก หรือในช่องปาก
- มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว
- มีอาการปวดหรืออักเสบ บริเวณแผล
เริมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
Herpes simplex virus-1 (HSV-1)
ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อ บริเวณปาก ริมฝีปาก ใบหน้า ช่องปาก สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การโดนแผล ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน การรับประทานอาหารร่วมกัน การจูบ การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
Herpes simplex virus-2 (HSV-2)
ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณ อวัยวะเพศ เกิดได้ทั้งชายและหญิง เช่น ถุงอัณฑะ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเป็นการสัมผัสกับเชื้อไวรัสโดยตรง
การวินิจฉัย เริมที่ปาก
เริมที่ปาก สามารถวินิจฉัยด้วยการตรวจโดยแพทย์ แต่ถ้าหากแพทย์ไม่แน่ใจว่าใช่อาการของเริมหรือไม่แพทย์ก็อาจจะมีการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่ม เช่น การตรวจเลือด การเพาะเชื้อ เนื่องจากอาการของเริมนั้นค่อนข้างคล้ายกับโรคอื่น ๆ อาทิ โรคงูสวัด แผลร้อนใน การติดเชื้อแบคทีเรีย
การรักษาเริมที่ปาก
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีน ในการรักษาเริมให้หายขาด โดยการรักษาหลักๆ ทำได้เพียงลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และช่วยลดความรุนแรงของอาการโดย ใช้ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) “เริมที่ปาก” มักหายได้เองและไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง หากอาการมีความรุนแรง และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ อาการกลับมาเกิดซ้ำบ่อยๆ แนะนำให้ควรไปพบแพทย์ทันที
การป้องกันเริมที่ปาก
- ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
- ดูแลสุขอนามัยพื้นฐานล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยทั้งการใช้สิ่งของร่วมกัน การรับประทานอาหารร่วมกัน การดื่มน้ำร่วมกัน และการมีเพศสัมพันธ์กัน
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็น เริมที่ปาก
- ทายาที่แผลอย่างเบามือ หลีกเลี่ยงการถูแผล
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังทายา
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- หมั่นทาริมฝีปากด้วยลิปบาล์มเพื่อป้องกันอาการปากแห้ง ปากแตก
- หลีกเลี่ยงการเกาหรือบีบตุ่มแผล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและการติดเชื้ออื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด อาหารที่มีรสเค็ม และอาหารที่มีความเป็นกรดสูง
- รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟนหากมีไข้ขึ้นหรือรู้สึกปวดแผล
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นทำให้เกิดเริมที่ปากซ้ำ
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- โดนแสงแดดเป็นเวลานาน
- ความเครียด หรือภาวะทางอารมณ์
- การผ่าตัดที่กระทบต่อเส้นประสาท
- การรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์